นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และบทเรียนสู่การท่องเที่ยวในอนาคต” จัดโดยคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -30 มิถุนายน 2567 มีจำนวนสะสม 17.50 ล้านคน
ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวมิได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะข้อมูลจาก องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2567 โดยประมาณการเบื้องต้นชี้ไปที่การเติบโต 2% เหนือระดับปี 2562 มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อัตราการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในเอเชีย ความเสี่ยงด้านลบทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่จริง
นอกจากนี้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยยังคงต่ำตามรายงานของธนาคารโลกเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า บริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.7 ล้านคนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 กับจำนวน 15 ล้านคน ในช่วงเดียวกันของปี 2567
สำหรับหนทางสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต คือ Build Back Better อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบใหญ่ ไม่ใช่แค่การเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ต้องทำให้การท่องเที่ยวแข่งขันได้และเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด สะท้อนจากรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 18% ของจีดีพี และยังไม่นับจีดีพีโดยอ้อมจากการบริโภคของแรงงานเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน ทุกภาคส่วนจึงหวังว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องพึ่งระวังและพิจารณากำกับดูแลและพัฒนาให้ดีขึ้น คือ ปัจจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของการเดินทางท่องเที่ยว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106 และปัจจัยด้านความมั่นคงปลอดภัย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 102 จาก 119 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะดัชนีด้านความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากที่ 92 จาก 117 ประเทศ เป็น 102 จาก 119 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับแย่ที่สุดในอาเซียน สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ Dragon Trail
ซึ่งพบว่าคนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2022 เป็น 51% ในปี 2023 และมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยฟื้นตัวได้ช้า จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย หากภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำร่วมกัน ได้แก่ การเร่งแก้ปัญหาความปลอดภัย การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่างดี และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและครบครัน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลัก ESG เพื่อให้ธรรมชาติที่งดงาม ยังคงอยู่ และสร้างขีดความสามารถให้ภาคท่องเที่ยวของไทยยังแข่งขันได้ในอนาคต
ขณะที่ประเด็นด้านความยั่งยืนเพื่อ Build Back Better นั้น เพื่อให้เกิด Resilience ในระดับที่จะสร้างความมั่นใจว่าท่องเที่ยวดี มีอนาคตยั่งยืน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ดังนี้
1. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน โดยยกระดับและปรับโครงสร้างให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมโครงสร้างที่ส่งเสริมการกระจายรายได้การท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว)
2. พัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่วีซ่าฟรี แต่รวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวกปลอดภัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี มีคุณค่าจากการเดินทางท่องเที่ยว เพิ่มความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงและตลอดระยะเวลาที่เดินทางท่องเที่ยว มีมาตรฐานการปฏิบัติเรื่องความสะดวกและปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้เยี่ยมเยือนคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ
3. ใช้ความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตและสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุปทานที่สอดคล้องในมิติต่าง ๆ ภายใต้การสร้างสรรค์เพิ่มคุณค่าและมีความแตกต่าง ส่งเสริมและสนับสนุนการกระบวนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและ/หรือธุรกิจต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสม และอาจหมายรวมถึงการแก้ไขกฎหมาย
โดยใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ทั้งด้านการพัฒนาและการตลาดการท่องเที่ยวสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากดำเนินการไปพร้อมกับการกระตุ้นดีมานด์ที่ไม่เน้นจำนวน หากแต่คำนึงถึงคุณภาพของนักท่องเที่ยวและการสร้างความยั่งยืนแล้ว มั่นใจได้ว่าจะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมี Resilience ที่ดี มั่นคง แข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันระยะยาว เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างมูลค่าหรือรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ ภาคการท่องเที่ยวจะ Build Back Better กลับมาเติบใหญ่ แข่งขันได้ เติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้ ประเทศไทย Amazing ตลอดไป