บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิก “องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” (เอสซีโอ) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในคาซัคสถาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เรียกร้องให้พันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างรัสเซีย และประเทศอื่น ๆ สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมั่นคง

เอสซีโอ ก่อตั้งเมื่อปี 2544 โดยรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลมอสโก ในฐานะกลุ่มเศรษฐกิจและความมั่นคง และมีอินเดีย, ปากีสถาน ตลอดจนหลายประเทศในเอเชียกลาง เป็นสมาชิก ซึ่งองค์การได้อนุมัติให้อิหร่านเข้าร่วมกลุ่มเมื่อปีที่แล้ว และรับรองเบลารุส ให้เป็นสมาชิกล่าสุดในปีนี้

ด้านนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า จีนจะทำงานเพื่อบูรณาการสมาชิกทั้งสองประเทศเข้ากับเอสซีโอ และส่งเสริมความร่วมมือขอบเขตอำนาจที่กว้างขวาง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำของกลุ่มพันธมิตรด้วย

“เอสซีโอ กำลังนิยามตัวเองว่าเป็นวิสัยทัศน์ทางเลือกสำหรับระเบียบโลกที่เทียบเคียงกับระเบียบหลังสงครามแบบดั้งเดิม ซึ่งนำโดยสหรัฐ และมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ” นายเบตส์ กิลล์ นักวิชาการอาวุโสด้านความมั่นคงเอเชีย จากสำนักงานวิจัยเอเชียแห่งชาติ (เอ็นบีอาร์) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ การขยายตัวของเอสซีโอ เพื่อรวมสมาชิกใหม่นั้น อาจถือเป็นการสะท้อนถึงการเรียกร้องหลายครั้งหลายหนของสี และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ต้องการให้ภูมิภาคอันกว้างใหญ่ของตน ต่อต้านอิทธิพลของชาติตะวันตก

แม้เอสซีโอ อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชากรโลกราว 40% และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประมาณ 30% อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกกลับมีระบบการเมืองที่หลากหลาย จนถึงขั้นมีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างเปิดเผย

ขณะที่ นายจาง เสี่ยวถง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีนและเอเชียกลาง (ซีซีเอเอสซี) ของมหาวิทยาลัยคิเมป ในคาซัคสถาน กล่าวว่ารัฐบาลปักกิ่งจะหาวิธีส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เนื่องจากประสบปัญหากับความพยายามในการควบคุมอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศ

ในอดีต จีนกับรัสเซีย ใช้เอสซีโอในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลาง และพยายามชิงอิทธิพลในภูมิภาค แต่เมื่อไม่นานมานี้ สองประเทศหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม นำเสนอเอสซีโอในฐานะ “คู่แข่งของชาติตะวันตก” มากขึ้นเรื่อย ๆ

กระนั้น นักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า เอสซีโอจะสามารถเป็นความท้าทายโดยตรงสำหรับชาติตะวันตกได้หรือไม่ โดยชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ที่มีมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ จีนยังแข่งขันชิงอิทธิพลกับรัสเซีย และพยายามแย่งชิงดินแดนกับอินเดีย ดังนั้น มันจึงยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เอสซีโอจะสามารถบรรลุความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ได้หรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP