เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ เขต 3 พร้อมนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจเมืองโบราณ ‘เวียงเชียงชื่น’ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่สวนหินมหาราช ต.ต้าผามอก ตลอดจน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กรุสมบัติเวียงเชียงชื่น ที่วัดสะแล่ง อ.ลอง โดยมีนายธีระ แก้วมา นายอำเภอลอง นายเสน่ห์ แสนมูล ผอ.ส่วนอำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 นายวิทวัธ รองเดช หัวหน้าอุทยานดอยผากลอง และเจ้าหน้าที่ดอยผากลองตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และท้องถิ่น จ.แพร่ ร่วมสำรวจ
จากการสำรวจได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ มีร่องรอยและข้อมูลของวัดที่ค้นพบในบริเวณนี้ ถึง 7 วัด มีเจดีย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง มีพระพุทธรูปโบราณและพบขวานหินขัด ซึ่งคาดว่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 2,500 ถึง 3,000 ปี รวมถึงโบราณวัตถุล้ำค่า อีกมากมาย ซึ่งพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีพระพุทธรูปโบราณที่ถูกขุดพบและถูกนำไปประดิษฐานอยู่ในวัดต่างๆ ในพื้นที่ของอำเภอลองแล้วจำนวนมาก บางแห่งเรียกว่าเป็นกรุสมบัติเวียงเชียงชื่น มหาสมบัติแห่งล้านนา เช่น ที่วัดสะแล่ง อ.ลอง จ.แพร่ เป็นต้น
โดยเมืองโบราณ ‘เวียงเชียงชื่น’ แห่งนี้ จากพงศาวดารและการสืบค้นพบว่า ได้กำเนิดขึ้นมาในยุคเก่าแก่โบราณสืบทอดกันมา คาดว่ามีอายุกว่า 2,500 ปี มีอาณาเขตอยู่บนพื้นที่ประมาณ 519 ไร่ จากตำนานพงศาวดารทั้งโยนกและพงศาวดารไทใหญ่ พบว่าปริศนาเมืองโบราณนี้มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนพุทธกาล และพระนางจามเทวีเคยได้มาเยือนเมืองนี้ และเรียกชื่อว่า เววาภาสิต แต่ด้วยปรากฏมีแร่โลหะที่เมืองโบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกเมืองนี้ว่า เวียงเชียงชื่น ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองลอง ในเวลาต่อมา
ขณะที่นายวรวัจน์ กล่าวว่า จ.แพร่ พร้อมเปิดเมืองโบราณนี้ต่อสายตาชาวไทย และชาวต่างชาติ ตนเชื่อว่า ความยิ่งใหญ่ของที่นี่ จะสร้างความตื่นตาต่อผู้มาเยือน และอนาคตเวียงเชียงชื่นแห่งนี้ จะกลายเป็นสัญญลักษณ์ การกำเนิดของเมืองที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่โบราณของไทย และจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย
ด้าน นายพนมบุตร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมศิลปากรยังสำรวจและมีข้อมูลเมืองแห่งนี้น้อยมาก แต่เมื่อพบหลักฐานที่สำคัญและน่าสนใจแบบนี้ กรมศิลปากรจะเร่งสำรวจข้อมูลและรวบรวมวัตถุโบราณตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และจะได้จัดงบประมาณปี 68 และปี 69 เพื่อทำการฟื้นฟูและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทันที ก่อนที่หลักฐานสำคัญและโบราณวัตถุต่างๆ จะถูกนำออกไป และกระจัดกระจายสูญหายไปจากเวียงเชียงชื่นมากกว่านี้