ทีมนักวิจัยจากสถาบันแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน เผยผลจากการศึกษาข้อมูลของประชาชนจำนวนมากกว่า 26,000 คนที่ได้จากธนาคารชีวภาพแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งผ่านการทดสอบต่าง ๆ แล้วพบว่าทำคะแนนได้สูงด้านความเฉลียวฉลาด, เก่งกาจเรื่องการใช้เหตุผล, มีความทรงจำดีและมีปฏิกิริยาโต้ตอบเรื่องต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยม
หลังจากนี้ทีมวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลด้านลักษณะนิสัยเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ระยะเวลาการนอน, คุณภาพการนอนและนาฬิกาชีวิต (Chronotype) ซึ่งก็คือวงจรการตื่นและหลับของแต่ละคน ว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างไรบ้าง
ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มที่ชอบนอนดึกมาก ๆ (หลังตีหนึ่ง) และกลุ่มที่นอนดึก (หลังสี่ทุ่ม แต่ไม่เกินตีหนึ่ง) มีการทำงานของสมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาความคิดได้ดีกว่ากลุ่มที่ชอบตื่นเช้า ซึ่งได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำที่สุด
การเข้านอนดึก ๆ นั้นมีความเกี่ยวโยงอย่างมากกับกลุ่มคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น ศิลปิน, นักเขียน, นักดนตรี มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปินและนักเขียนที่โด่งดัง เช่น อองรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ค, เจมส์ จอยซ์ หรือแม้กระทั้งเลดี้กาก้า ก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าอยู่ในกลุ่มคนชอบนอนดึกมาก
นอกจากนี้ กรณีศึกษาดังกล่าวยังพบว่า ระยะเวลาการนอนหลับก็มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง โดยกลุ่มคนที่นอนหลับระหว่าง 7-9 ชม. จะทำคะแนนในการทดสอบสมองด้านการคิด ทำความเข้าใจและตัดสินใจได้สูงกว่าคนที่นอนน้อย
ดร.ราฮา เวสต์ ผู้นำโครงการวิจัยนี้และสมาชิกทีมวิจัยระดับคลินิกของแผนกศัลยกรรมและโรคมะเร็งแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน กล่าวว่า การทำความเข้าใจและบริหารจัดการวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของเราเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็มีอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กันก็คือจะต้องดูแลตัวเองให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
ศาสตราจารย์หม่าต้าชิง ผู้ร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้ก็เสริมว่า ทีมงานได้พบว่าระยะเวลาการนอนหลับมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง และเชื่อว่าการจัดรูปแบบการนอนหลับในเชิงรุกจะมีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริม รวมถึงปกป้องการทำงานของสมอง
นอกจากนี้ เขายังเสนอความคิดว่าทางการควรจะวางนโยบายช่วยปรับรูปแบบการนอนหลับของประชาชนให้ดีต่อการทำงานของสมองยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับผลการศึกษานี้ทั้งหมด แจ๊คกี ฮันลีย์ หัวหน้าฝ่ายทุนวิจัยขององค์กรวิจัยเพื่อโรคอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักรแสดงความเห็นว่า ถ้าหากไม่มีภาพบอกรายละเอียดของการทำงานภายในสมอง ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าการนอนดึกหรือตื่นเช้ากันแน่ที่ส่งผลกระทบต่อความจำและการใช้สมองขบคิดเรื่องต่าง ๆ หรือสมองที่ทำงานด้านการใช้ความคิดและความเข้าใจได้แย่ลงอาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนอนให้เปลี่ยนแปลงไปก็ได้
ที่มา : theguardian.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES