เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) นายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ รองอธิบดี ทช. แถลงข่าวกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวความว่า ชาวบ้านบ้านหนองอ้อ หมู่ที่ 5 ต.เมืองปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากถนนเส้นทางโนนสูง-โนนไทย บริเวณบ้านหนองอ้อ ต.เมืองปราสาท ระยะทางยาว 500 เมตร เกิดชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อเสียหายอย่างหนัก ทำให้รถที่สัญจรผ่านไปมาไม่สะดวก ชาวบ้านประสบอุบัติเหตุรถล้มมาแล้วหลายคัน ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ ทช. นั้น
ทช. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอเรียนชี้แจงว่า ถนนทางหลวงชนบทสาย นม.6019 บ้านโนนสูง-บ้านโนนไทย อ.โนนสูง และ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เป็นถนนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ ทช. ซึ่งมีสาเหตุความเสียหายมาจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ประกอบกับกรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จึงทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมถนน และกัดเซาะพื้นผิวถนนเป็นหลุมใหญ่
ส่งผลให้ผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีตได้รับความเสียหายความยาว 30 เมตร บริเวณช่วง กม.ที่ 1+300 ฝั่ง อ.โนนสูง 1 ช่องจราจร เป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่ตามที่ปรากฏในข่าวแล้วนั้น ทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ตระหนักถึงในความเดือดร้อนของประชาชนในการใช้รถสัญจรผ่านไป-มา ระหว่าง อ.โนนสูง และ อ.โนนไทย
นายผดุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ปริมาณน้ำลดลง แขวงทางหลวงชนบทนครราชสีมาจึงได้รีบเข้าดำเนินการซ่อมแซมทันที เพื่อสร้างความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ตามข้อสั่งการนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการเส้นทางและให้รีบนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการทันทีหลังน้ำลด
โดยแขวงทางหลวงชนบทนครราชสีมาได้ดำเนินการปูผิวลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีตแล้วเสร็จเพื่อให้ผิวจราจรกลับคืนสู่สภาพปกติ พร้อมปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทางและปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ป้ายเตือน ราวเหล็กกันอันตราย รวมถึงป้ายนำทางให้อยู่ในตำแหน่งใช้งาน ปัจจุบันได้เปิดการจราจรให้ประชาชนใช้สัญจรได้ตามปกติแล้ว ตลอดจนได้สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงสาเหตุที่ทำให้ถนนชำรุดเสียหายเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการประเมินความเสียหายของถนน ทช. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้นั้น บางเส้นทางน้ำลดแล้ว หน่วยงานในสังกัดเข้าพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อนำมาออกแบบ สรุปวงเงิน และจัดหางบประมาณดำเนินการฟื้นฟูให้เกิดความถาวรต่อไป เช่น บางเส้นทางมีน้ำมามาก ทำให้ท่อระบายหรือช่องรอดในการระบายน้ำน้อยไป จนส่งผลให้ถนนชำรุดเสียหาย ดังนั้นอาจจะเพิ่มท่อระบายน้ำหรือพื้นที่ในการระบายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณได้มากขึ้น
ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์อุทกภัยยังไม่ยุติ แต่เมื่อยุติและหน่วยงานในสังกัดนำแผนฟื้นฟูน้ำท่วมมาเสนอที่ ทช. แล้ว จะประเมินมูลค่าความเสียหาย สรุปจำนวนงบประมาณที่ดำเนินการ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดหางบกลางมาฟื้นฟูภายในงบปี 65 ให้แล้วเสร็จต่อไป
นายผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความเสียหายในครั้งนี้ถือว่าเสียหายมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากจะเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และ ขอนแก่น นอกจากนี้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดรับมือกับอุทกภัยเต็มที่โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่อยู่ตามแนวแม่น้ำชี ขณะนี้น้ำเริ่มไหลจากชัยภูมิ ไปที่ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ ไปบรรจบที่อุบลราชธานี ขณะเดียวกันมีน้ำจากแม่น้ำมูลไหลจากนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ บรรจบที่อุบลฯ เช่นเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนทันที