ย้อนความว่าทำไมพรรคพลังประชารัฐเข้ามามีเอี่ยวในเรื่องนี้ ก็ตั้งแต่ประกาศนโยบายผลักดันแผนที่วันแม็พ การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดิน หรือ “โฉนดทองคำ” ซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยมีนักการเมืองอดีตกำนันคนดังในพื้นที่วังน้ำเขียวร่วมเป็นโต้โผใหญ่ จนกระทั่งขนแกนนำและสมาชิกพรรคเข้าไปจัดการประชุมในรีสอร์ทใหญ่ซึ่งถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จับกุมดำเนินคดีแล้ว จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2562 และกรมอุทยานฯ ได้เข้าไปจับกุมซ้ำ
ขณะที่สถิติคดีการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน โดยเฉพาะการก่อสร้างรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ นับตั้งแต่ 13 ก.ค. 2543-9 ก.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 552 คดี เนื้อที่กว่า 12,527 ไร่ อยู่ในพื้นที่ปราจีนบุรี 139 คดี เนื้อที่กว่า 5,438 ไร่ และอยู่ในพื้นที่นครราชสีมา 413 คดี เนื้อที่กว่า 7,088 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว 365 คดี เนื้อที่กว่า 5,568 ไร่
มาถึงวันนี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดกระแส “#SAVEทับลาน” มโหฬารอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผอ.สำนักอุทยานฯ เปิดเผยว่า หลังปิดโหวตให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นกรณีเพิกถอนฯ ป่าทับลาน ซึ่งกรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. รวม 15 วัน มียอดผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 9.4 แสนคน คัดค้านการเพิกถอนป่าทับลานกว่า 9 แสนคน ส่วนที่เห็นด้วยมีเพียง 4 หมื่นกว่าคน และหวังว่า ครม.คงทบทวนเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามในกระแสเซฟทับลานก็ยังมีกระแสของคนที่ไม่เซฟด้วย โดยเฉพาะนักวิชาการ และฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลาย ที่ออกมาเหน็บว่าคนเซฟทับลานเป็นพวก “เขียวตกขอบ” ไม่คำนึงถึงประชาชนที่อยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ขณะที่ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็ออกมาโต้ว่า ไม่มีที่ป่าจะรุกคน มีแต่คนที่เข้ามาอยู่ภายหลัง หากมีเอกสาร ส.ค.1 หรือเอกสารสิทธิอื่นมาแสดงก็พร้อมเพิกถอนให้ วันนี้กรมอุทยานฯ มีกฎหมายมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ในการดูแลประชาชนคนยากไร้ที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว
มองไปที่นโยบายที่ดินป่าไม้ของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ผ่านมาเห็นแล้วก็น่าตกใจ ในส่วนพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายออกโฉนดให้กับประชาชน 50 ล้านไร่ แบ่งเป็น ส.ค.1 จำนวน 1 ล้านแปลง ส.ป.ก. 33 ล้านไร่ ป่าสงวนฯ 7 ล้านไร่ พื้นที่สูงอีก 10 ล้านไร่ ฟากพรรคก้าวไกลเล็งแก้กฎหมายป่าไม้ อุทยานฯ ส.ป.ก. เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด 40 ล้านไร่ พิสูจน์สิทธิในที่ดินป่า 13 ล้านไร่ เป็นต้น ถามว่าวันนี้จะเอาพื้นที่ไหนมาจัดสรรนอกจากพื้นที่ป่า
สรุปคือเรื่องที่ดินป่าไม้ล้วนเป็นนโยบายขายฝันของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายก้าวหน้าและล้าหลัง นโยบายสวยหรูเหล่านี้หากถึงมือคนยากคนจนจริงๆ ก็คงไม่มีใครค้าน แต่ที่ห่วงกันคือกลุ่มนักการเมือง นายทุน ผลประโยชน์ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเอง สุดท้ายประชาชนต้องเหนื่อยออกมาเซฟอนุรักษ์ป่าอื่นๆ อีกหรือไม่.