เริ่มวันแรกของการทำงาน ประเด็นหลักที่ต้องติดตาม หนีไม่พ้นภารกิจของ “นายเศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรี งานหลักคงอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ผลพวงหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบยิง ต้องจับตามาตรการรักษาความปลอดภัยจะเพิ่มมาตรการเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ ส่วนที่ถูกสื่อซักถามอาจมีเรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 ก.ค. ซึ่ง จะมีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากรัฐบาลยกเลิกการนำเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)มาใช้ในโครงการเรือธง
นอกจากนี้ในเวลา 10.00น. นายกฯจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ต้องรอดูภายหลังการประชุม บทสรุปรูปแบบโครงการ จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ ก่อนที่”นายเศรษฐา”นัดแถลงวันที่ 24 ก.ค.
ส่วนประเด็นที่สอง คือการเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (สว. ) 200 คน ซึ่งวันที่ 15 ก.ค. สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะเปิดให้รายงานตัววันสุดท้าย ซึ่งสรุปยอดสว. การรายงานตัว 2 วันที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 186 คน จาก 200 คน คิดเป็น ร้อยละ 93 คงเหลืออีก 14 คน ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ที่นำโดย”นางนันทนา นันทวโรภาส” หลังจากรายงานตัวครบแล้ว ต้องรอดูว่าจะมีการนัดหมายประชุมวุฒิสภานัดแรกเมื่อไหร่ วาระสำคัญคือเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งช่วงที่ผ่านแต่ละกลุ่มก็เริ่มตัวจับกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
มีรายงานว่า สว.ในกลุ่มอิสระ และสว.สายสีส้ม ที่มีจำนวนประมาณ 30คน จะมีการหารือ เพื่อพิจารณาส่งคนลงชิงเก้าอี้ประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยในส่วนประธานวุฒิสภา อยู่ระหว่างการพิจารณาจะส่งใครลงชิงเก้าอี้ ส่วนตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา 2 เก้าอี้นั้น อาจจะส่งนางนันทนา นันทวโรภาส และนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.)ลงชิงตำแหน่ง รอง ประธานวุฒิสภา
ส่วนสว.สายสีน้ำเงินที่คุมเสียงในสภาสูงประมาณ 130 คนนั้นยังไม่มีข่าวการนัดรวมตัว เพื่อหารือ คงต้องรอดูว่าจะมีการนัดหมายเพื่อคุยถึงตำแหน่งประธานละรองประธานวุฒิสภาหรือไม่ ที่ผ่านมามีข่าวแคนดิเดตของสว.กลุ่มที่ยึดเสียงข้างมากในสภาฯ ที่ต้องการผลักดันให้เข้ามาเป็นผู้นำวุฒิสภา คือ “ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” อดีตผู้ช่วยผบ.ทบ. เพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย( ภท.) ทำให้ทั้งพล.อ.เกรียงไกรและนายอนุทิน มีความสนิทสนมกันมาก ส่วนตัวเต็งอีกคนคือ “นายมงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ลงสมัคร สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.บุรีรัมย์
ถือเป็นสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ที่ทำงานรู้ใจกันมานาน
ดังนั้นถ้าหากถึงวันที่นัดหมายการประชุมวุฒิสภา หากสว.สายสีน้ำเงินต้องการผลักดันใครให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา คงไม่น่ามีปัญหา เพราะมีสว.ในสังกัดเกือบ 130 ส่วนตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา 2 เก้าอี้ อยู่ที่สว.กลุ่มนี้จะปล่อยให้กลุ่มอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแชร์อำนาจหรือไม่ คงอยู่ที่การต่อรองและการพูดคุยกัน ส่วนกรณี “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” ออกมาเปิดข้อมูลว่า มีการล็อบบี้สว.สายอิสระให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มสว.ที่เป็นเสียงข้างมาก โดยให้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่เพื่อให้ได้เสียงเด็ดขาดในการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ที่คาดว่าจะมีการเลือกในวันที่ 19 ก.ค.นั้น ต้องรอดูจะมีหลักฐานและข้อมูลออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือสะท้อนให้เห็นว่าการแย่งชิงอำนาจในการนำ ก็เข้มข้นดุเดือดไม่พอสภาผู้แทนราษฎร
อีกปมร้อนที่ต้องติดตาม คือปัญหาความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย( พท. ) ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลัง “วัน อยู่บำรุง” ประกาศไขก๊อกพ้นตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) หลังปรากฏภาพขณะไปร่วมติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานี ที่บ้านพักของ”พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ปรากฎตามสื่อต่างๆ ขณะที่ผู้สมัครที่พท.ให้การสนับสนุน “นายชาญ พวงเพชร” คว้าชัยไปอย่างหวุดหวิด พร้อมทั้งบอกว่า สัปดาห์หน้านี้จะยื่นใบลาออก พ้นการเป็นสมาชิกพรรค พท.เช่นเดียวกับ” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก็ออกมาประกาศว่า“เมื่อหนุ่ม (นายวัน) ลาออกแล้ว ผมจะอยู่ในพรรคพท.ต่อได้อย่างไร ก็เลยขอให้พรรคขับผมออกจากพรรคตามระเบียบพรรคการเมือง เพื่อจะได้ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมือง 2-3 พรรคติดต่อเข้ามาแล้ว ยืนยันว่าผมตกได้ แต่ผมต่ำไม่ได้”
แม้ตระกูล”อยู่บำรุง”จะมีสส.อยู่ในพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่กี่คนแต่ยังมีแสงอยู่ในตัวต้องรอดูแรงกระเพื่อมครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อพรรคพท. มากขนาดไหน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคพท.จะยับยั้งหรือไม่ แต่ที่น่าสนใจคำพูด”นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งกล่าวในระหว่างเดินทางมาเป็นประธานพิธีงานอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตอนหนึ่งว่า
“ขอให้ทุกคนร่วมกันอนุโมทนาบุญด้วยกันให้บุญกุศลนี้ทำให้ครอบครัวของพี่น้องทั้งหลายในที่นี้พ้นจากหนี้สิน ความทุกข์ยาก มีโอกาสตั้งตัวใหม่ “หลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป รัฐบาลจะทำงาน มีรูปธรรมออกมาเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ เราต้องให้ความมั่นใจ เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน” ในช่วงเดือนสิงหาคม อดีตนายกฯจะพ้นจากการพักโทษ กลับมากลายเป็นคนไม่มีชนักปักหลังจะสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คล่องตัวมากขึ้น ต้องจับตานายทักษิณจะมีแผนงานในการขับเคลื่อนอะไรอย่างไร เพื่อฟื้นความนิยมพรรคพท.และรัฐบาล”
ขณะที่ในช่วงเย็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็นเจ้าภาพ จัดงาน “งานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล” ครั้งที่ 3 หลังจากพรรคพท. และ พรรคภท. ได้เป็นเจ้าภาพไปแล้ว โดยเลือก ณ บ้านปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นที่พบปะสังสรรค์ ในส่วนของเจ้าภาพที่จะเข้าร่วม ได้แก่ แกนนำระดับรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรค และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ขณะที่ ”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ“ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพปชร. มอบหมายให้ ”พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ“ รอง นายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. เข้าร่วมแทน
สำหรับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะร่วมรับประทานอาหารค่ำ อาทิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคพท. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอง นายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภท. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.)
ทั้งนี้ รายงานว่า นอกจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล แล้วยังมีแกนนำ ที่ได้รับเชิญ ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคพท. นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ รวมทั้ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รอง นายกฯร่วมด้วย คงต้องรอดูประเด็นหลักในการพูดคุยของแกนนำรัฐบาลจะให้น้ำหนักในเรื่องอะไร ท่ามกลางคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ยังเป็นรองแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล(ก.ก. )
“ทีมข่าวการเมือง”