ช่วงนี้หากพูดคุยกับ ‘คอกีฬา’ ประเด็นในการเปิดวงสนทนาก็คงหนีไม่พ้นรายการใหญ่ทั้งสองรายการที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ อย่าง ‘ฟุตบอลยูโร’ และ ‘โอลิมปิกเกมส์’ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงโอลิมปิกก็ต้องแวะชมความน่าสนใจของเกมส์การแข่งขันที่กำลังเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือดเสียก่อน ซึ่งก็คือ ยูโร หรือ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่เดินทางมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อย นั่นหมายความว่าตีสองคืนนี้ (14 ก.ค. 67) ทั่วโลกก็จะได้ทราบพร้อมกันแล้วว่า ระหว่างอังกฤษและสเปน ชาติใดจะขึ้นมานั่งบนบันลังก์เจ้าแห่งยุโรป และในที่สุดรายการแข่งขันดังกล่าวก็จะจบลง

ทว่ายังไม่ทันจะได้พักหายใจหายคอ คนรักกีฬาก็ต้องนับถอยหลังในเวลาอันกระชั้นชิดอีกรอบ เนื่องจากมหกรรมกีฬานานาชาติอันยิ่งใหญ่ อย่าง ‘โอลิมปิกเกมส์ 2024’ หรือ ‘ปารีส 2024’ ที่นับเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 33 ซึ่งปารีสได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ กำลังจะเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 18 กันยายน 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

แน่นอนว่าความน่าสนใจของปีนี้พิเศษเหนือกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากโอลิมปิก 2024 กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ในฐานะมหกรรมกีฬาที่ส่งเสริม ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ อย่างแท้จริง ด้วยจำนวนนักกีฬาชายและหญิงที่จะเข้าร่วมแข่งขันในสัดส่วนที่ ‘เท่าเทียมกัน 50:50’ เป็นครั้งแรก ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในการส่งเสริม ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘โอกาสที่เท่าเทียมกัน’ ให้กับนักกีฬาทุกเพศได้แสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลก

“นี่เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในโอลิมปิกเกมส์ และวงการกีฬาโดยรวม แม้ว่าเราจะบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศกันไปแล้วในโอลิมปิกเกมส์ ปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ในปารีส 2024 ที่กำลังจะถึงนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่นักกีฬาหญิงและนักกีฬาชายเข้าร่วมการแข่งขันในจำนวนที่เท่ากัน” ‘โทมัส บาค’ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โอลิมปิกให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ถือเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการนำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้ามาใช้ในการแบ่งสัดส่วนของนักกีฬา โดยในปีดังกล่าวมีจำนวนนักกีฬาหญิงเข้าร่วมถึง 48.8 % ทว่าปารีส 2024 ในครั้งนี้ จากจำนวนนักกีฬาที่จะเข้าร่วมทั้งหมด 10,500 คน จะมีการเพิ่มสัดส่วนของนักกีฬาหญิงให้เท่าเทียมกับนักกีฬาชาย เป็น 50:50 โดยจากกีฬาทุกรายการแข่งขัน แบ่งออกเป็นประเภทหญิง 152 รายการ ชาย 157 รายการ และประเภทผสมเพศ 20 รายการ

การแข่งขันกรีฑา ชกมวย หรือปั่นจักรยาน ก็จะสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างเต็มที่ ‘เป็นครั้งแรก’ ในโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส นั่นหมายความว่ากีฬา 28 จาก 32 รายการ ก็จะเกิดความสมดุลและเท่าเทียมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสัดส่วนของรายการการแข่งขันประเภทผสมจาก 18 เป็น 22 รายการ ซึ่งนับว่าเติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับโอลิมปิก โตเกียว 2020

นอกจากนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยังกําหนดให้แต่ละประเทศมีนักกีฬาหญิงอย่างน้อยหนึ่งคน และนักกีฬาชายหนึ่งคน เป็นผู้ถือธงในพิธีเปิด ทั้งยังจะจัดช่วง ‘ไพรม์ไทม์’ หรือการจัดเวลาให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อครอบคลุมการแข่งขันทั้งชายและหญิง มากไปกว่านั้น ในเกมเปิดสนามโอลิมปิก 2024 และสนามสุดท้ายจะเป็นการแข่งวิ่งมาราธอนหญิง แทนการวิ่งมาราธอนชายดังทุกครั้งที่ผ่านมา

“นี่คือก้าวสำคัญของผู้หญิงในวงการกีฬา นานแล้วที่การให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมักไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งพูดตรงๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ที่จะได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับความชอบธรรมของการแข่งขันกรีฑาหญิง การที่มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนเท่ากันในสนามในปีนี้ จะทำให้ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้” ‘ชารี ฮอว์กินส์’ นักกรีฑาทีมชาติสหรัฐฯ กล่าวกับ Axios สำนักข่าวของสหรัฐฯ

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ‘ความเท่าเทียมนั้น ไม่เท่ากับ ความเท่าเทียมทางเพศเสมอไป’

‘มิเคเล่ ดอนเนลลี’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยบร็อค แคนาดา (Brock University) กล่าวกับ Euronews ว่า ตัวเลขเพียงอย่างเดียว ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ความเท่าเทียมกันในทีนี้ ไม่เท่ากับความเท่าเทียมทั้งหมด มันคือความเท่าเทียมกันในเชิงตัวเลข ซึ่งหากจะให้ครอบคลุมได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่จำนวนนักกีฬาเท่านั้นที่สำคัญ เรื่องของเงื่อนไขในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ถือเป็นอีกสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน เธอยังพบข้อสังเกตว่า มีกีฬาเพียงบางประเภทเท่านั้นที่ไม่มีการแบ่งแยกเพศในระหว่างการแข่งขัน ได้แก่ ยิงธนู ไตรกีฬา และแบดมินตัน ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ผู้หญิงยังคงมีบทบาทในฐานะโค้ชหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคน้อยมาก อาทิ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ในกรุงโตเกียว มีผู้หญิงได้รับหน้าที่โค้ชเพียง 13% จากตําแหน่งโค้ชทั้งหมด ถัดมาในปี 2022 ที่ปักกิ่ง โค้ชหญิงมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 10% และล่าสุด หนังสือพิมพ์ The Guardian จากอังกฤษ คาดการณ์ว่าปารีส 2024 ตัวเลขดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างเพศในวงการกีฬา สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและการส่งเสริมประชากรในด้านสุขภาพและการกีฬา หากประเทศใดไม่ให้ความสำคัญกับกีฬาและการออกกำลังกายของเด็กผู้หญิง ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ส่งผู้หญิงไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์มากนัก สอดคล้องกับสถิติโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่ง ในปี 2022 ที่พบว่า จากบรรดา 91 ประเทศที่ส่งนักกีฬาไปแข่งขัน มี 18 ประเทศที่ไม่ส่งนักกีฬาหญิงเข้าไปแข่งขันเลย ทว่าเมื่อเทียบกับฝั่งของนักกีฬาชาย มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ไม่ได้ส่งเข้าร่วมรายการแข่งขัน

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความท้าทายของผู้หญิงที่ใฝ่ฝันที่อยากเป็นโค้ชในโอลิมปิกเกมส์ อาจเป็นเรื่องยากพอๆ กัน โอลิมปิกเกมส์จะสามารถบรรลุความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อ ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นผู้นำได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้?

“ข้อเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (ความเท่าเทียมทางเพศ) น่าเป็นห่วงมาก เพราะพวกเขา (IOC) ประกาศว่าเราบรรลุความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แต่จริงๆ เรามันยังไม่ได้เป็นแบบนั้น” เธอ กล่าวต่อ

นอกจากนี้เธอยังกังวลว่า เป้าหมายความเท่าเทียมภายในโอลิมปิกเกมส์จะกลายเป็นการไปกีดกันโอกาสของผู้ชายและเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิง แทนที่จะเพิ่มรายการแข่งขันเพิ่มเติมสำหรับนักกีฬาหญิงเท่านั้น

“มันไม่ตรงกับนิยามของความเท่าเทียมทางเพศที่ฉันรู้จัก การเอาสิทธิ์จากกลุ่มหนึ่ง ไปเพิ่มให้อีกกลุ่มหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่เท่าเทียมกัน และนั่นหมายความว่านักกีฬาคือคนที่ถูกลงโทษ” ดอนเนลลี กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก: Olympics, Euronews, Axios, The Japan Times