นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร เมื่อสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ ที่กระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรการผู้เลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ในความเสียหายครั้งนี้ กลับบานปลายอีก เมื่อชาวประมงพื้นบ้านใน อ.เมือง จ.ระยอง พบปลาหมอคางดำโผล่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ใกล้หาดระยองจำนวนมาก โดยแค่หว่านแหก็ติดขึ้นมาเพียบ
ในเรื่องเดียวกันนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยข้อมูลลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ว่า ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อยู่ในน้ำกร่อยได้ สัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งจึงถูกคุกคาม หาดทราย หาดเลนบางแห่งอยู่ในเขตน้ำกร่อย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำลำคลอง ความเค็มต่ำปลาหมออยู่ได้
บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ขนาดเล็กที่อาจตกเป็นอาหารปลา ทำให้สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านทำมาหากินริมทะเล เช่น เก็บสัตว์น้ำ ทอดแห วางอวนทับตลิ่ง ฯลฯ ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างง่าย ๆ คือปลากระบอกเริ่มหายไป ทอดแหวางอวนดันได้ปลาหมอมาแทน ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งอยู่ตามชายฝั่ง ในเขตน้ำกร่อย เจอผลกระทบเช่นกัน
ระบบนิเวศทั้งสองแบบเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งปลาหมอคางดำจะกินสัตว์เหล่านั้น ผลกระทบจึงไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในกรณีของแนวปะการัง อยู่ห่างชายฝั่ง น้ำเค็มมากหน่อย คิดว่าปลาหมอคงไปไม่ถึง แต่ยังมีหย่อมปะการังริมฝั่งที่อาจได้รับผลบ้าง ต้องติดตามดู
เมื่อดูจากแผนที่ ผลกระทบตอนนี้อยู่ในอ่าวไทยตอนใน กำลังขยายตัวไปทางภาคตะวันออก ชายหาด ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเลริมฝั่งในจังหวัดระยอง เช่น ปากน้ำ บ้านเพ เรื่อยไปจนถึงจันทบุรีและตราด เป็นพื้นที่เสี่ยงลำดับต่อไป ยังรวมถึงหย่อมการแพร่กระจายอื่นๆ เช่น ภาคใต้
ปัญหาสำคัญคือการจับปลาหมอในทะเลลำบากกว่าในบ่อหรือในคลอง หากแพร่ระบาดออกไปจะยากต่อการควบคุม คิดว่าปลาหมอจะขยายพื้นที่ไปตามปากแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งรอบๆ แต่จะไม่ออกไปตามเกาะเล็กเกาะน้อย (ยกเว้นเกาะขนาดใหญ่ที่มีลำคลอง) ไม่คิดว่าปลาหมอจะว่ายตัดทะเลไปเกาะใหญ่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าติดไปแล้วลงสู่แหล่งน้ำบนเกาะ จะแพร่พันธุ์รอบเกาะได้
การควบคุมให้ปลาหมอไปไม่ถึงเกาะต่าง ๆ จึงสำคัญอย่างมาก ต้องช่วยกันระวังอย่าให้คนพาไป (ไม่ตั้งใจก็ต้องระวัง) สถานการณ์ตอนนี้คงต้องเริ่มจากติดตามว่าปลาหมอกลุ่มที่อยู่ตามชายฝั่งมีที่ไหนบ้าง มีมากมีน้อย แนวโน้มเป็นอย่างไร หาทางป้องกัน/กำจัดอย่างไร
เรายังต้องการข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในทะเล เพราะเป็นปลาเอเลี่ยน เราจึงไม่รู้การปรับตัว พฤติกรรมในทะเล อาหาร ผลกระทบ ฯลฯ ในทะเลไทยไม่เคยมีเอเลี่ยนจริงจังมาก่อน เมื่อมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ เราต้องรีบหาทางรับมือ
หากเจอต้องช่วยกันรายงาน ปลาน้อยจับง่าย ปลาเยอะจับไม่หวาดไม่ไหว โดยเฉพาะตามเกาะใหญ่ ๆ ที่มีแหล่งน้ำจืดไหลลงทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด เกาะสมุย พะงัน ฯลฯ เราต้องจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น หากเจอรีบแจ้งเลยครับ https://www.csitereport.com/nexusans…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Thon Thamrongnawasawat