เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่รัฐสภา สมาคมอุทยานแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นหนังสือถึงนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาตรวจสอบและทบทวนขั้นตอนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,000 ไร่

โดยนายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานฯ กล่าวว่า ข้อห่วงใยของสมาคมของอุทยานฯ ต่อกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน คือ 1. กรณีแนวเขต สำรวจ รังวัด ของกรมป่าไม้ เมื่อปี 2543 เป็นการสำรวจการครอบครองที่ดินของราษฎร ตามที่ราษฎรเข้ามายึดถือครอบครอง ทำกิน ในเขตอุทยานฯ ทับลาน ในขณะนั้น ซึ่งราษฎรอ้างสิทธิว่าได้ครอบครองทำกิน มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ทับลาน เมื่อปี 2524 2.หากจะยึดตามแนวเขตรังวัด ปี 2543 เพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งหากมีการเพิกถอนพื้นที่มรดกโลก 2.65 แสนไร่ ประเทศไทยจะเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกและเกิดผลกระทบตามมาแน่นอน

นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า 3.จะก่อให้เกิดผลกระทบ ไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ 4. หากเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน ตามเส้นแนวเขตปี 2543 และส่งมอบให้พื้นที่ ส.ป.ก. ดำเนินการ เกรงว่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.ส.ป.ก. 2518 ที่มุ่งให้เกษตรกรมีที่ทำกินด้านการเกษตร และห้ามมิให้จำหน่าย จ่าย โอน ซื้อขาย เปลี่ยนมือ ซึ่งปัจจุบันระเบียบของ ส.ป.ก. ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้สามารถนำไปออกโฉนด ส.ป.ก. และสามารถเปลี่ยนผู้ถือครอง หรือจำหน่ายฯ ไปยังบุคคลอื่นได้ รวมทั้งเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตร ไปเป็นกิจกรรมอื่นๆ ได้ 5. หากโอนพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการตามข้อ 4 แล้ว จะเป็นรูปแบบ เงื่อนไข ข้อต่อรอง ให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อุทยานฯ อื่นทั่วประเทศ เรียกร้องสิทธิให้เพิกถอนเช่นเดียวกันกับอุทยานฯ ทับลานได้ เช่น อุทยานฯ สิรินาถ ดอยอินทนนท์ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด หมู่เกาะช้าง เป็นต้น

นายกสมาคมอุทยานฯ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของสมาคมอุทยานฯ กรณีพื้นที่ที่ราษฎรยึดถือครอบครองในเขตอุทยานฯ ทับลาน เห็นควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 มาตรา 64 ซึ่งเป็นแนวทางชัดเจนตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการยึดถือ และครอบครองที่ดินในเขตอุทยานฯ ทับลาน ในปัจจุบันและเพื่อการวางแผนในอนาคตตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของประเทศไทย รวมทั้งเสนอแนะให้ใช้แนวทางโครงการฟื้นฟูป่า ประชาร่วมใจของสมาคมฯ ซึ่งทำสำเร็จในการได้พื้นที่ป่ากลับคืนมาแล้ว ในอุทยานฯ ศรีน่าน และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นต้น

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพร้อมกับเครือข่ายและพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 265,000 ไร่ เนื่องจากการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าว กระเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและอาจก่อให้เกิดบรรทัดฐานการแก้ปัญหาพื้นที่ซ้อนทับในเขตอนุรักษ์อื่น ต่อเนื่องกันไปทั่วประเทศ การเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติ แต่กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ตามมา ทั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอให้เกิดการทบทวนการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ของประเทศชาติต่อไป

“ถ้าเราเหมาเข่งกลุ่มประเด็นปัญหาทั้ง 3 ในพื้นที่ มารวมกันแล้วเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมผู้ที่อาจจะทำผิดในพื้นที่ตรงนี้ และทำให้กระบวนการในการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบกระเทือนทั่วประเทศ” นายภาณุเดช กล่าว

นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 ก.ค. นี้ โดยจะมีการเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลกับกมธ. เช่น สคทช. ส.ป.ก. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งก็หวังว่าจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อจำได้ข้อสรุปนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อฝ่ายบริหารคือ รมว.ทรัพยากรฯ นายกรัฐมนตรี และ ครม. หากมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับมติ ครม. ที่เคยประกาศออกไป

นายเลาฟั้ง บัณทิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวเสริมว่า กรณีนี้มีทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้ #Saveทับลาน และประชาชนในพื้นที่ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงเส้นแนวเขตนี้ กมธ. จึงจะรับมาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกันกับทางข้อเรียกร้องของทางภาคประชาชนที่ว่า จะต้องไม่เหมาเข่ง และต้องตรวจสอบกรณีการบุกรุกทั้งนายทุน และข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจด้วย