เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 59 พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ เพื่อเป็นการคืนคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับกลไกการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำหนดกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่
โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า การมีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญเนื่องจากคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และคำนึงถึงการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ที่ กมธ. เสนอมีการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ คือ กำหนดให้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. ประกาศใช้ พร้อมกำหนดกระบวนการคัดเลือก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนและระบุว่า ในข้อสังเกตของ กมธ. ต่อที่มาของสมาชิก และคำนึงถึงสัดส่วนความเท่าเทียมระหว่างเพศ และมีตัวแทนเยาวชน ขอสนับสนุนและควรดำเนินการให้เป็นจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสองแบบรายมาตรา ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. แล้ว ได้ลงมติเห็นชอบทั้งฉบับด้วยเสียงเอกฉันท์ 406 เสียง พร้อมกับเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. ที่ระบุข้อเสนอแนะต่อกระบวนการคัดเลือกสภาที่ปรึกษาฯ ที่ต้องกำหนดไว้ในกฎหมาว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร่วมกับระบบสรรหาแบบเดิม นอกจากนั้น ให้คำนึงถึงสัดส่วนความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเยาวชน รวมถึงควรให้มีมาตราเฉพาะรองรับกระบววนการและผลลัพธ์ของการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยกลไกและแนวทางการเสริมสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ สภาผู้แทนราษฎร จะส่งให้วุฒิสภาได้พิจารณารายละเอียดว่าจะเห็นด้วยกับสภา หรือไม่.