ผศ.ดร.ธนเสฏฐ์ ทองใสเกลี้ยง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการคณะเกษตร ที่ได้งบประมาณการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำคณะเจ้าหน้าที่วิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าในการวิจัยผลจากสกัดสารจากน้ำผึ้งชันโรง ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ก่อนลงพื้นที่จริงที่วิสาหกิจชุมชนฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง หมู่ 2 ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถาบันศึกษาปอเนาะฮายาตุซซอฮาบะห์ ก้าวแรกที่ได้เดินเข้าไปในสถาบันปอเนาะแห่งนี้ เราจะพบกับตอไม้นานาชนิด ที่ด้านบนของตอไม้จะเป็นถาดไม้ทรงสี่เหลี่ยมและมีกระเบื้องหลังคาปิดทับด้านบนไว้อีกชั้นหนึ่ง วางเรียงรายในบริเวณที่ร่ม ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความเขียวขจีและร่มรื่น และที่บริเวณตอไม้ต่างๆ จะมีลักษณะเหมือนกับมีช่องหรือรูเล็กๆที่มีตัวชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว จำนวนหนึ่งบินหรือตอมอยู่ที่บริเวณดังกล่าว เมื่อสอบถามจึงทราบว่า เป็นรังหรือบ้านของตัวชันโรง หรือผึ้งจิ๋วอาศัยอยู่ ซึ่งมีจำนวน 150 ลัง

จากการสอบถาม นายสุดิรมัน สาแม็ง ผู้ดูแลฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง ทราบว่า ฟาร์มชันโรงหรือผึ้งจิ๋วแห่งนี้ ได้ริเริ่มทำฟาร์มชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว มาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี เริ่มแรกเดิมทีพบว่าน้ำหวานหรือน้ำผึ้งจากชันโรงมีราคาแพง และแถวบริเวณบ้านที่พักอาศัยโดยรอบ เป็นพื้นที่ติดต่อกับแนวเขตของป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งจะพบเห็นชันโรงหรือผึ้งจิ๋วบินหาอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ถือว่าธรรมชาติเอื้ออำนวย จึงได้ปรึกษากับสมาชิกในครอบครัวลงทุนเงินก้อนหนึ่ง เพื่อสร้างเป็นฟาร์มชันโรงขึ้น ด้วยการศึกษาสายพันธุ์ของชันโรงว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง ต่อมาจึงได้ตระเวนซื้อหาชันโรงจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ต.ปูโยะ ที่ชันโรงได้พากันมาทำรังที่ต้นไม้ของชาวบ้าน ซึ่งในจุดนี้ถือว่าทำให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย โดยรับซื้อในราคาท่อน หรือตอละประมาณ 200 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชันโรงว่าไปทำรังที่ต้นไม้หรือท่อนไม้หรือตอไม้เนื้อแข็งหรือเนื้ออ่อน ถ้าไม้เนื้อแข็งจะมีราคาที่รับซื้อแพงกว่า จากนั้นเมื่อได้ชันโรง หรือผึ้งจิ๋วที่รับซื้อจากชาวบ้านแล้ว ก็จะแยกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ นำไปเรียงไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในขณะนี้เป็นสายพันธุ์อิตาม่า โตราซิก้า และอาพิคาลิส โดยเฉพาะสายพันธุ์อิตาม่า จะให้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง ได้ขยายกิจการไปเลี้ยงชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว ในพื้นที่ อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งมี 3 สาขาด้วยกัน ประเด็นสำคัญการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว หัวใจสำคัญคือในช่วงการเปิดถาดหรือรังในการเก็บน้ำหวาน หรือ น้ำผึ้ง เราต้องเก็บน้ำหวานในถ้วยที่ชันโรงสร้างไว้ในถาด หรือในแต่ละรัง ให้หมดหรือเกลี้ยงสนิท มิเช่นนั้นหากน้ำหวานหรือน้ำผึ้งตกค้าง ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว จะไม่นำน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่ไปตระเวนดูดจากดอกไม้ชนิดต่างๆ มาวางใส่ไว้ในถ้วย แต่ชันโรงจะสร้างถ้วยขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือว่าเสียรายได้และโอกาสที่เราต้องรอชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว สร้างถ้วยขึ้นมาใหม่ แทนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายสุดิรมัน ผู้ดูแลฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ตนตัดสินใจหันมาเลี้ยงชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี มีผู้บริโภคจากทั่วสารทิศสั่งชื้อสินค้าไม่ขาดสาย อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช เป็นต้น แถมยังมีผู้บริโภคจากประเทศมาเลเซีย ก็สั่งชื้อเช่นกัน เนื่องจากฟาร์มชันโรง หรือผึ้งจิ๋วของเราทั้ง 3 สาขา ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมของทุกปี น้ำผึ้งชันโรงจะมีสีเขียวมรกต หรือชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่าน้ำผึ้งมรกต ซึ่งได้มาจากน้ำหวานจากดอกเสม็ดที่เบ่งบานในบริเวณป่าพรุ มีคุณค่าทางอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยา จึงเป็นที่มาที่ไป ที่ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นำน้ำผึ้งชันโรงในฟาร์มไปวิจัยสกัดสารป้องกันรักษาช่วยยับยั้งรักษาหรืออาการของโรคมะเร็งและเซลล์อัลไซเมอร์ดังกล่าว ผู้บริโภคท่านใดสนใจลิ้มลองน้ำผึ้งชันโรง ที่มีกลิ่นหอมรสชาติหวานอมเปรี้ยว รับประกันจะถูกใจอย่างแน่นอน โดยจำหน่ายบรรจุแบบขวดมีทั้งปลีกและส่ง โดยขวดขนาดบรรจุ 270 กรัม จำหน่ายปลีกในราคาขวดละ 350 บาท ส่งราคาขวดละ 250 บาท และขวดบรรจุขนาด 750 กรัม จำหน่ายปลีกในราคาขวดละ 1,200 บาท ส่งราคาขวดละ 800 บาท และหากมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเราก็จะลดราคาให้อีก ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 06-5392-9024 นายสุดิรมัน สาแม็ง หรือ ติดต่อทางเพจ sudir shop, เพจ ฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง และ เพจ stingless bee

ด้าน ผศ.ดร.ธนเสฏฐ์ ทองใสเกลี้ยง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ได้ทำน้ำผึ้งของชันโรงในรูปแบบผงขึ้นมาแล้ว ได้บรรจุแคปซูลเรียบร้อยหมดแล้ว ก็เหลือแต่ขั้นการทดสอบกับเซลล์มะเร็งและเซลล์อัลไซเมอร์ว่าผลจากสารที่สกัดมา มันจะมีผลช่วยยับยั้งหรือว่ารักษาโรคหรืออาการได้อย่างไรต่อไป จึงถือว่าเป็นความโชคดีของคนไทย ที่ไม่นานเกินรอ และความหวังกับการต่อสู้ของโรคร้ายมาตลอดทั้งชีวิตจะหายไป กับน้ำผึ้งชันโรงที่ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กับการวิจัยและได้สกัดสารจากน้ำผึ้งชันโรงเป็นผงบรรจุแคปซูล ที่ถือว่าเป็นแห่งแรกในโลก ที่ภาวนาให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว