เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานศึกษาธิการภาค 14 กับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ )ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการอ่านออกเขียนได้ ของเด็กไทย/เยาวชนไทยในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 สู่คุณภาพชีวิตที่ดี
ซึ่งการจัดการประชุมลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่ ส่งเสริมและสนับสนุนการอ่านออกเขียนได้ ของเด็กไทย/เยาวชนไทย พัฒนาสื่อ เครื่องมือ นวัตกรรม การแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ของเด็กไทย/เยาวชนไทย พร้อมทั้งสนุนบุคลากรในสังกัด ให้ปฏิบัติภารกิจตามวัตถุประสงค์ของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย/เยาวชนไทย ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยมี ดร.สุภชัย จันปุ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 14 รองผู้ราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาญเจริญ ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ภาคีเครือเครือข่ายครูและนักเรียน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลการพัฒนาศักยภาพการอ่าน การเขียน ของโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพการอ่านออกเขียนได้ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา 8 แห่ง
นายสุเทพ กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานศึกษาธิการภาค 14 กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด 4 จังหวัด และหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ) 37 แห่ง (MOU) ในวันนี้ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตการศึกษาโดยเฉพาะของประชาชนคนไทย จริงๆ แล้วการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาคน ซึ่งการศึกษาจะให้มีประสิทธิภาพนั้น ผู้เรียนจะต้องอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานในเรื่องของการพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเรื่องของเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่บ้างพอสมควร ดังนั้นการดำเนินการในวันนี้ ก็มีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เด็กได้อ่านออกเขียนได้ 100% ในทุกโรงเรียนในทุกคน นอกเหนือของขบวนการในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังมีในเรื่องของการพัฒนาสื่อ เพื่อเอาสื่อและนวตกรรมที่คิดขึ้นมาและพัฒนาเอาไปใช้ในการอ่านออกเขียนได้กับผู้เรียน นี่คือวัตถุประสงค์หนึ่งที่มาร่วมกันในเรื่องของการดำเนินการ