นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องมลพิษ และแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนของโครงการระบบทางพิเศษ(ด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 2 ส่วนทดแทน (ตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) แต่ กทพ. ก็ยังคงจะต้องเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาฯ เตรียมสรุปผลการศึกษาแล้ว โดย กทพ. จะนำเสียงสะท้อน และข้อกังวลของประชาชนในครั้งนี้ ไปพิจารณาปรับปรุงรายงานผลการศึกษาด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกังวลของประชาชนดังกล่าว จะส่งผลให้ กทพ. ต้องยกเลิกโครงการฯ หรือไม่ นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กทพ. ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะยกเลิกโครงการหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน และเสนอให้กระทรวงคมนาคม รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโครงการฯ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจร และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ลดระยะเวลาการเดินทางเชื่อมจากฝั่งตะวันออก และตะวันตกได้ประมาณ 30 นาที
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า วันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 08.30-12.00 น. กทพ. จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ประเสริฐมนูกิจ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ทางเลือกที่ 2.2 เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด โดยเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางด่วนศรีรัชตัดถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ (ที่สร้างตอม่อรองรับไว้นานแล้ว)-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ
อุโมงค์ทางด่วน N1 ถือเป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มี 4 ช่องจราจร เป็นอุโมงค์ใต้ดิน 2 ชั้น ชั้นละ 2 ช่อง อุโมงค์ชั้นบนรับรถจากด่วนศรีรัชมุ่งหน้าถนนนวมินทร์ อุโมงค์ชั้นล่างรับรถจากถนนนวมินทร์ไปทางด่วนศรีรัช อุโมงค์มีความกว้างประมาณ 16 เมตร และลึกประมาณ 40 เมตร เท่ากับตึก 15-16 ชั้น บริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุโมงค์ทางด่วนจะสร้างอยู่เหลื่อมๆ กันกับอุโมงค์ทางลอดแยก ม.เกษตรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ซ้อนกัน มีมูลค่าการลงทุน 31,747 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 1,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 30,747 ล้านบาท สูงกว่าการก่อสร้างทางด่วนยกระดับประมาณ 3 เท่า เพื่อลดผลกระทบการต่อต้านของ ม.เกษตรฯ ในการต้องใช้ที่ดินแนวเขตรั้วก่อสร้างทางขึ้นลง
อย่างไรก็ตาม การสร้างอุโมงค์ทางด่วนได้รับการคัดค้านจากประชาชนบางกลุ่มที่จะต้องถูกเวนคืนที่ดินเช่นกัน รวมทั้งแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน การป้องกันน้ำท่วม การขนย้ายดินในระหว่างการก่อสร้าง จะทำให้เกิดผลกระทบการจราจร รวมถึงคุณภาพอากาศที่ระบายออกมาจากอุโมงค์ จะสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในละแวกนั้น.