หลัง “เดลินิวส์” นำเสนอการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เป็นการกระตุ้นเตือน และเชิญชวนชาวบ้านในพื้นที่ที่พบปลาชนิดนี้ให้ได้ช่วยกันจับขึ้นมาใช้ประโยชน์
แต่หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2556-2559 จะพบว่า ประเทศไทยไทยมีการส่งออกปลาหมอคางดำไปต่างประเทศ ในฐานะปลาสวยงาม จำนวน 323,820 ตัว คิดเป็นมูลค่า 1,510,050 บาท โดยประเทศปลายทางที่สั่งซื้อ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน เลบานอน ตุรกี อียิปต์ ซิมบับเว รัสเซีย โปแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
ดังนั้นจะเห็นว่าไทยมีการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ปลาหมอคางดำ มาเพาะเลี้ยงในกลุ่มปลาสวยงาม แต่ต่อมาในปี 2561 กรมประมงจึงมีการประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง เนื่องจากพบว่าเป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เอเลี่ยนสปีชีส์” เนื่องจากพบการระบาดจากฟาร์มปลาสวยงามในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบการระบาดของสัตว์ต่างถิ่นมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายธรรมชาติสามารถจัดการได้เองทั้งหมด แต่นั่นคงต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าธรรมชาติจะจัดการกลับปลาหมอคางดำได้สำเร็จ
ส่วนกิจกรรมตามล่า ตามจับที่หลายพื้นที่กำลังสนับสนุนอยู่ ทางวิชาการบ่งบอกว่าจะช่วยลดปริมาณของปลาในแหล่งน้ำเท่านั้น ถ้าไม่มีการจับอย่างต่อเนื่อง ปลาก็จะมีการแพร่พันธุ์ใหม่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงควรทำเป็นระบบและรอบด้านตามหลักวิชาการ เพื่อให้การลดปริมาณปลาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“การศึกษาวงจรชีวิตของปลา จะทำให้เรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่ปลาแพร่พันธุ์ ช่วงเวลาวางไข่ ช่วงตัวอ่อน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสมในการตัดวงจรชีวิตของปลาหมอคางดำตั้งแต่ต้นทางและกำจัดได้อย่างรวดเร็ว” ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางการจัดการปลาหมอคางดำอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดปัจจุบัน จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ ระยะแรกส่งเสริมให้เป็นอาหารของมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นอาหารประจำถิ่น ของแต่ละพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด แนวทางนี้จะเป็นการสร้างความต้องการให้กับตัวปลา และต้องมีการวางแผนบริหารจัดการและการตลาดอย่างดี เพื่อจูงใจให้เกิดการจับปลาต่อเนื่อง เช่น มีการรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าและไม่ให้มีการปล่อยปลากลับคืนลงไปในแหล่งน้ำอีก
ระยะกลาง ควรมีการระดมสมองเพื่อทำการศึกษาวงจรชีวิตของปลา ซึ่งจะนำไปสู่การกำจัดปลาอย่างมีประสิทธิภาพและลดจำนวนปลาอย่างมีนัยสำคัญ และระยะยาว จำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาหมอคางดำอย่างถูกต้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนได้เรียนรู้ และสามารถปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
การแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำระบาด ต้องเดินหน้าแบบองค์รวมและทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สามารถลดปริมาณประชากรปลาได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน.