เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภัทรพงศ์ ศุภักษา หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้มีคำสั่งให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้เป็นโมฆะ และจัดการเลือก สว.ใหม่ โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า กระบวนการเลือก สว.ครั้งนี้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการโกงกันมโหฬาร โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา กรณีที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. อ้างว่าคำพิพากษาของศาล 185/2567 ที่ระบุว่าใครจะมีอาชีพอะไรก็แล้วแต่สามารถสมัครกลุ่มใดก็ได้ในจำนวน 20 กลุ่ม หากผู้พิพากษาตอบกลับมาว่าไม่ได้เป็นในทำนองเดียวกันกับที่นายแสวง ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถือว่างานนี้สนุกแน่นอน การเลือก สว.ครั้งนี้มีหลากหลายปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.ที่เข้าข่ายการทุจริต ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่ประสงค์อยากให้คนที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายอาชีพ เข้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศในฐานะที่เป็น สว.

“มีหลายเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม  ทั้งกรณีเรื่องบ้านใหญ่ การฮั้วกัน การลงคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ลงให้ตัวเอง หรือเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร สว. วันนี้จึงอยากให้ทบทวนการเลือก สว. โดยประกาศให้เป็นโมฆะ และเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว อย่าให้ สว. 250 คน ต้องยิ้มหวาน” นายภัทรพงศ์ กล่าว

นายภัทรพงศ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการเลือกที่ จ.บุรีรัมย์ นั้นมีเหตุการณ์ที่มีพิรุธหลายคน เช่น คนขับรถให้ตระกูลดัง จ.บุรีรัมย์ ได้เป็นสว. หรือแม้ผู้สมัครอายุ 51 ปี รับทำพิธีศาสนาทั่วไป ประวัติการศึกษาจบประถมศึกษาปีที่ 6 ประวัติการทำงานเป็นมัคนายก ซึ่งคนระดับนี้ผ่านการเลือกแต่ละระดับได้รับเลือกเป็น สว.บุรีรัมย์ รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีประวัติการทำงานและประวัติการศึกษาที่ไม่สอดรับกับความเหมาะสม จึงทำให้ จ.บุรีรัมย์ กลายเป็น “บุรีรัมย์โมเดล” ที่มี สว.จำนวนมากที่สุดถึง 14 คน  ทั้งนี้โดยจะแจ้งความดำเนินคดีกับทุกคนที่เป็นผู้สมัคร สว.ของ จ.บุรีรัมย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ว่ามีการจดแจ้งข้อความในเอกสารราชการใบสว. ซึ่งเป็นเอกสารราชการในข้อความที่เป็นเท็จไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้กลายเป็น “บุรีรัมย์โมเดล”

นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนอยากให้การรับรองคุณวุฒิของผู้สมัคร สว. มีมาตรฐาน เช่น ตนเป็นทนายความ ผู้ที่จะต้องรับรองตนคือประธานสภาทนายความประจำจังหวัดนั้นๆ หรือนายกสภาทนายความ แต่การเลือก สว.ครั้งนี้ เพียงแค่รู้จักกันก็สามารถรับรองให้กันได้ มันง่ายเกินไปหรือไม่ และปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณาตัดคุณสมบัติของผู้สมัครที่ไม่ตรงกลุ่มเลย เห็นได้ชัดกรณีคนขับรถให้ตระกูลดัง จ.บุรีรัมย์ ดูคุณวุฒิก็ไม่เข้ากับคุณสมบัติ ทั้งนี้ อาชีพหมายถึงคนที่ทำงานต่อเนื่องในลักษณะที่ก่อให้เกิดรายได้ คนที่เป็นหมอธรรม เป็นจิตอาสา เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเข้าข่ายเป็นที่มาของรายได้อย่างไร