เศรษฐกิจไทยที่เคยเติบโตมากมายในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ก็เพราะญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นแทบทุกยี่ห้อกรีธาทัพเข้าไทย จนไทยกลายเป็น “ดีทรอยส์เอเชีย” โดยปริยาย นอกจากจ้างงานหลายแสนคน ยังก่อเกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย เช่น โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เมืองไทยกลายเป็นจุดหมายนักธุรกิจญี่ปุ่น มีปัจจัยดึงดูดเพียบ เช่น มีชุมชนญี่ปุ่นให้แม่บ้านไปสันทนาการ มีร้านอาหารญี่ปุ่น มีโรงเรียนนานาชาติคุณภาพดี มีสนามกอล์ฟชั้นยอด คนงานไทยฝีมือดี ขยัน ทำโอทีได้ไม่เกี่ยง เป็นต้น

ทั้งหมดคือ เสน่ห์ผูกมัดใจนักธุรกิจญี่ปุ่น จนใครที่ถูกย้ายแทบหลั่งน้ำตาอาลัย ขณะญี่ปุ่นมีคุณูปการสูง ดึงเศรษฐกิจไทยเติบโตมาหลายทศวรรษ อย่างที่กล่าวไว้ เรียกว่า วิน วิน ทั้งไทย ญี่ปุ่น ก็ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุโรตะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่นหรือ JETRO ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ครึ่งปีแรก 2567 พบว่า ไทยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยน่าห่วง คือ การขายรถญี่ปุ่นซบเซา มีบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่ม 23% ด้านเครื่องจักรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรขนส่ง 18% ตัดสินใจลดการลงทุน ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นกังวลอุปสรรคการแข่งขันที่สูงขึ้น 65% ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่สูงขึ้น 43% ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนสูงขึ้น 42% ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน 29% และมีเสียงสะท้อนให้รัฐบาลไทยกระตุ้นผู้บริโภคให้ซื้อรถญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะรถกระบะ (ที่ญี่ปุ่นยังนำตลาดอยู่)

อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยที่กำลังมีปัญหา (ปิดโรงงานแล้ว 2 ค่าย) อย่างที่รู้ แนวโน้มโลกจะก้าวไปสู่รถยนต์ EVหรือรถไฟฟ้า ที่จีนกลายเป็นผู้นำ “นวัตกรรม” ไปแล้ว จีนส่งขายทั่วโลกโดยใช้สงครามราคาเป็นตัวนำ แม้แต่ “เทสลา” ของ อี ลอน มัสก์ ยังร้องจ๊าก เทสลาคันละ 2 ล้าน รถไฟฟ้าจีนไม่ถึงล้าน สู้กันได้ไง รัฐบาลสหรัฐกับยุโรปทำสงครามกีดกันรถไฟฟ้าจีนหนัก ทำให้ “สต๊อกรถไฟฟ้า” ในจีนล้น ต้องหันทุ่มขายในเอเชีย ไทยเป็นตัวอย่างที่รถญี่ปุ่นสะเทือน ขณะรัฐบาลไทยทั้งให้เงินอุดหนุนคนซื้อ เพื่อช่วยลดมลพิษ ทั้งลดภาษีนำเข้าอีก แถมบริษัทที่จีนยังหั่นราคาแหลก อย่างที่เป็นข่าว คนซื้อรถก่อนหน้าเครียดหนัก ใครซื้อทีหลังถูกกว่าเป็นแสน ๆ และจะถูกลงได้อีก

รัฐบาลไทยจะช่วยรถญี่ปุ่นยังไง เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก หนักกว่านั้นอีกคือ หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมล้าหลัง ไปไม่รอด ญี่ปุ่นทิ้งไทยไป ไทยจะรับมือยังไง ยังไม่เคยเห็นวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ แม้แต่รัฐบาลในเรื่องนี้อย่างเป็น “รูปธรรม” จริงจังเลย

ขณะอีกเรื่องสำคัญ นายคุโรตะ เผยว่า นักธุรกิจญี่ปุ่น 81% ไม่ทราบแผนงานนโยบายIgnite Thailand” ของรัฐบาลไทยเลย มี 19% เท่านั้นที่ทราบ โดยเห็นว่า เป็นแผนงานใหม่ ต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียด ซึ่งเอาเข้าจริง 19% ที่ว่า ก็น่าจะเป็นการตอบแบบไม่หักหาญน้ำใจซะมากกว่า นั่นเท่ากับ เกือบ 100% ไม่รู้ว่าIgnite Thailand” ที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จัดเป็นงานใหญ่เอารัฐมนตรีและข้าราชการทุกกระทรวงมานั่งฟังที่ทำเนียบรัฐบาล จะชูไทยเป็น 8 ศูนย์กลางธุรกิจภูมิภาคเอเชีย คือ ด้านท่องเที่ยว อาหาร ยานยนต์ไฟฟ้า กีฬา สุขภาพ การบิน การขนส่ง และเศรษฐกิจดิจิทัล นั้น ยังไม่เป็นที่รับรู้ แม้ในไทยเลย แล้วที่นายกฯ ไปชักชวนนักลงทุนทั่วโลกมานั้น จะได้ผลแค่ไหน…

กลับมาที่ผลสำรวจ JETRO อีกครั้ง ที่ผลสำรวจ นักธุรกิจญี่ปุ่น ไม่มีคำถามเรื่องความกังวลด้านการเมือง ก็คงเพราะเค้าอยู่มานาน จนเข้าถึงการเมืองแบบไทย ๆ แล้ว ผิดกับนักลงทุนจากสหรัฐหรือยุโรปที่การเมืองแบบไทย ๆ มีผลต่อการตัดสินใจมากกว่ากันเยอะ ไม่นับปัจจัยสำคัญอื่น ๆ

เช่น ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เด็กเกิดน้อยลงทุกปี ผลวิจัย PISA การศึกษา 3 ด้านสำคัญ ไทยต่ำกว่าเกณฑ์หมด (เยาวชนเก่ง ๆ ไม่ติดคุก ก็เป็นพวกชังชาติ) สินค้าใหม่แข่งกับโลกไม่มี ระบบยุติธรรมล้าหลัง ผู้มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ตามใจชอบ หนี้ครัวเรือนสูง 90% ของจีดีพี รธน.โหลยโท่ย แต่แทบแก้ไม่ได้ ก้าวไกล พรรคใหญ่สุด กำลังจะถูกยุบ (อีกแล้ว) 200 สว.ใหม่ รายชื่อทำสิ้นหวังซ้ำซาก แม้แต่นายก อบจ. ใหม่เอี่ยม ก็มีโอกาสต้องหยุดงานทันที

ประเทศไทยที่สิ้นเสน่หาไปเรื่อย ๆ จะไปทางไหน?!?.

………………………………………
ดาวประกายพรึก

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…