สัปดาห์ที่แล้วพอจะได้เห็นหน้าค่าตาของ “ว่าที่ สว. 200 คน“ และยังมีบัญชีสำรองแนบท้าย อีก 100 คน รวมทั้งหมด 300 คน ทั้งหมดถือว่า ผ่านกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ (อย่างไม่เป็นทางการ)เมื่อวันพุธที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามขั้นตอนจาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2560

ถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยก็ว่าได้! หลังได้เห็นชื่อเสียงเรียงนาม บรรดาว่าที่ สว. ทั้ง 200 คนก่อนหน้านี้ “สว. 250 คน” มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ วุฒิสภา หรือ สภาสูง ประกอบด้วย สมาชิก 250 คน (เริ่มจากปี 2562-2567) เปรียบเสมือน มรดกของ คสช. วางกลไกสืบทอดอำนาจไว้ นับเป็น หมากเด็ด สุดแสนพิเศษ มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สส. กระทั่งเดือน พ.ค. 67 สว. 250 คนต้องโบกมืออำลาเมื่อหมดอายุลง

ขณะที่ สว.ใหม่ 200 คน ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดที่มาของ สว. มาตรา 107 ว่า วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือก ทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ถึงแม้กระบวนการเลือกกันเองของ สว.ใหม่ 200 คนจะค่อนข้างซับซ้อนเป็นพิเศษกว่า สว. ชุดอื่น ๆ แต่ก็ผ่านพ้นการเลือกกันเองครบ 1 สัปดาห์ ยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และมีสื่อโซเชียลไปตามไล่ค้นหาดูประวัติชื่อเสียงเรียงนามของ ว่าที่ สว. ทั้ง 200 คน (สำรอง 100 คน) ซึ่งมีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์ กกต. นำออกมาตีแผ่ให้เห็นอย่างละเอียดไล่ตั้งแต่ อดีตบิ๊กข้าราชการ จากหลายเหล่าทัพ หลายหน่วยงาน อาทิ จาก ทหาร, ตำรวจ, แพทย์, ครูอาจารย์, วิศวกร, นักวิชาการ, นักกฎหมาย รวมถึง อดีตนักการเมือง, นักข่าว, นักต่อสู้ประชาชน, นักกีฬา, นักร้อง, เกษตรกร, อสม., พ่อค้า, แม่ค้า, คนขับรถ, ไม่เว้นอาชีพรับจ้าง ฯลฯ มี “กลุ่มม้ามืด” ได้คะแนนสูงอันดับต้น ๆ ส่วนบรรดา “บิ๊กเนม” คนดังต่างอกหักสอบตกระนาว

200 สว. ชุดใหม่ มีวาระ 5 ปี แม้จะไม่มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี!! แต่มีอำนาจและหน้าที่สำคัญรออยู่มาก มาย 1. การพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย อาทิ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ,การกลั่นกรองร่าง พ.ร.บ.ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ทั่วไป และร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย, การอนุมัติพระราชกำหนด ได้แก่ พระราชกำหนดทั่วไป และ พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อาทิ การตั้งกระทู้ถาม, การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา, การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา, การตั้งกรรมาธิการ และ
3. การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อ สว.มีอำนาจหน้าที่สำคัญเช่นนี้ !! เกือบตลอดทั้งสัปดาห์คงมีการเรียกร้องกกต.เร่งตรวจสอบหลายเรื่อง ทั้งประวัติ, คุณสมบัติ, ปมส่อทุจริต ก่อนประกาศผลทางการ 3 ..นี้ ถึงขั้นไปยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือกสว.เป็นการชั่วคราว

ตอนนี้หลายฝ่าย พากันปูเสื่อรอดู “ว่าที่ สว.ใหม่” ใครบ้าง? จะโดนสอยประเดิมรายแรก ไม่เว้นแม้กระทั่งตามลุ้นด้วยว่า การเลือกตั้งที่ถูกร้อง ไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น จะบานปลายถึงขั้นเป็นโมฆะหรือไม่!!.

……………………….
เชิงผา

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…