ในวันที่ 5 ก.ค. นี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาทเป็นวันแรก โดยให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บให้แทน ขณะที่รอกรมสรรพากรแก้ไขกฎหมายก่อน 

สำหรับวิธีการเก็บภาษีทางกรมศุลกากร ระบุว่า

  • การเก็บภาษีไม่สร้างภาระให้กับประชาชนหรือผู้บริโภค เพราะวิธีการจัดเก็บภาษี กรมจะมีการเรียกจัดเก็บจากบริษัทขนส่งของเอกชน โดยไม่ได้ไปเรียกเก็บกับประชาชนที่สั่งซื้อของไป
  • ยกเว้นกรณีสินค้าที่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ซึ่งปกติจะมีปริมาณไม่มากอยู่แล้ว โดยส่วนนี้จะมีการออกใบสำหรับจ่ายภาษีเพิ่มเติม ซึ่งผู้ซื้อสามารถสแกนจ่ายภาษีกับบุรุษไปรษณีย์ได้ และรับของไปได้เลย
  • สินค้าทุกชิ้นที่สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะถูกคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทั้งหมดตั้งแต่บาทแรก โดยไม่ได้รับการยกเว้น
  • การสั่งสินค้าทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มที่นิยม เช่น Lazada, Shopee ส่วนใหญ่มีการจัดส่งผ่านขนส่งเอกชน ทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เมื่อสินค้าถึงปลายทาง เพราะกรมศุลฯ จะเรียกเก็บจากผู้ขนส่ง ซึ่งผู้ขนส่งจะไปเรียกเก็บผู้ประกอบการต่ออีกที
  • ห้ามผู้ประกอบการขนส่งห้ามฉวยโอกาสไปเรียกเก็บเงินภาษีกับประชาชนปลายทางที่รับสินค้าอย่างเด็ดขาด
  • ปริมาณสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท และมีการนำเข้ามาในไทย ในรอบ 8 เดือนปีนี้ มีมูลค่านำเข้า 26,000 ล้านบาท คิดเป็น 89 ล้านชิ้น และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีสินค้ากลุ่มนี้นำเข้ามาได้ 30,000 ล้านบาท ทำให้หากกรมจัดเก็บภาษีเต็มปีจะได้เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท  

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก เพียงแต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศซึ่งที่ผ่านมา สินค้าผลิตในไทยจะต้องเสียภาษีแวต 7% แต่สินค้านำเข้ากลับได้รับการยกเว้นทำให้เกิดแต้มต่อทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ออกมา

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี และโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กรมจะหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหารือถึงรายละเอียดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท โดยหลักกการผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม จะเป็นผู้จัดเก็บและนำส่งภาษีมาให้โดยตรงกับกรมฯ เลย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับบริการ หรือ อีเซอร์วิส ที่กรมมีการออกกฎหมายจัดเก็บไปก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดอาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น สินค้าอาจมีการคืนของ จึงต้องมีการคุยลงรายละเอียดกัน