ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สมุทรสงคราม นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม เป็นประธาน มีหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยที่ประชุม น.ส.กาญจนา คำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตราด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต (คิด ทำ ทิ้ง) 

โดยประเด็นที่ได้จากกิจกรรมการประชุม (Watch & Voice) จับตามองแจ้งเบาะแสและการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต จำนวน 5 เรื่องได้แก่ 

1.อาคารระบบผลิตน้ำประปา บริเวณซอยข้างวัดกลางเหนือ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที ถูกทิ้งร้าง ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสงครามแจ้งว่า อบจ.สมุทรสงคราม ได้โอนให้การประปาฯ เมื่อปี 2560 เนื่องจากต้องการแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อการผลิตน้ำประปา ต่อมาปี 2563 การประปาได้ส่งคืนเนื่องจากไม่สามารถผลิตน้ำได้เพราะการก่อสร้างไม่สมบูรณ์และภาวะน้ำเค็มรุก ต้องใช้งบในการปรับปรุงสูงประกอบกับการรับโอนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่ง อบจ. ยังไม่รับคืน โดยนางนิลุบล เดชเกตุ ปลัด อบจ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า ในส่วนขั้นตอนการโอนของ อบจ. สมบูรณ์ตามระเบียบแล้ว และการรับโอนกลับในทางปฏิบัติยังไม่เคยมี แต่จะให้นิติกร อบจ. ตรวจสอบข้อกฎหมายและจะหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติต่อไป

2.ป้ายโฆษณาไตรวิชชั่น (Trivision billboard) บริเวณแยกตลาดบางนกแขวกไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งผู้แทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า ป้ายดังกล่าว กรมการท่องเที่ยว เป็นผู้ดำเนินได้จัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามความต้องการของพื้นที่ ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมื่อปี 2557 ปัจจุบันป้ายไม่สามารถหมุนได้และชำรุดบางส่วน แต่ได้ขึ้นทะเบียนพัสดุกับธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามแล้ว ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการ จัดทำหนังสือจากประธานคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัดสมุทรสงคราม ไปยังกรมการท่องเที่ยวว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ผู้แทนภาคประชาชนเสนอว่าควรสอบถามรวมถึงป้ายอื่นๆ ที่อยู่ในโครงการเดียวกันในบริเวณอื่นอีก 4 จุดด้วย

3.เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บริเวณแยกตลาดบางนกแขวก ไม่สามารถใช้งานได้ น.ส.ประภารัตน์ นาคผจญ หัวหน้าสำนักงาน จ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และได้ส่งมอบให้ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ไปเมื่อปี 2562 ล่าสุด สำนักงานจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายของจังหวัดเพื่อการดูแลรักษาให้ใช้งานได้ และจะส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับไปดูแลต่อไป ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตราด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ขอให้ตรวจสอบสภาพการใช้งานของเสาไฟฟ้าฯ ในโครงการเดียวกัน ที่อยู่ในจุดอื่นๆ ด้วย หากไม่สามารถใช้งานได้ ขอให้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย และส่งมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใช้งานต่อไป

4.อาคารศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ อบจ.สมุทรสงคราม (ท้องฟ้าจำลอง) ต.บางแก้ว ปิดให้บริการมานานแล้ว น.ส.ณัฐนันท์ แก้วกิตติวัฒน์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า เนื่องจากอาคารทรุดโทรมและถูกปิดเป็นที่พักของผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงที่มีการแพร่ระบาด ล่าสุด อบจ. ได้บรรจุโครงการปรับปรุงเข้าแผนพัฒนาท้องถิ่นปี 2566-2570 โดยปี 2567 ปรับปรุงสะพานทางเดินป่าชายเลน งบประมาณ 4 ล้านบาท อยู่ระหว่างการร่างแบบและประมาณการราคา ส่วนการปรับปรุงอาคารและระบบนิทรรศการหอดูดาว งบประมาณ 2 ล้านบาท ยังหาผู้รับจ้างไม่ได้จึงอยู่ระหว่างแก้ไขแผนงาน และปี 2568 มีแผนปรับปรุงอาคารและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ งบประมาณ 12,000,000 บาท 

5.อาคารระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการศูนย์เกษตรและประมงแปรรูปครบวงจร ที่สหกรณ์ประมงแม่กลองจำกัด ต.แหลมใหญ่ ใช้งานไม่ได้ นางนิลุบล เดชเกตุ ปลัด อบจ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า หลังจากหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการตอบว่า อบจ. สามารถเข้าไปซ่อมแซมอาคารระบบบำบัดน้ำเสียได้ แต่ต้องนำเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของสภา อบจ. และได้รับการเห็นชอบก่อน ส่วนค่าดูแลรักษารายปีและค่าเช่าที่ดินต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ภายหลังการซ่อมแซมเสร็จ และสหกรณ์ประมงแม่กลองจำกัดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีการประชุมหารือถึงข้อสรุปร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

น.ส.กาญจนา คำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตราด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่าโครงการที่ 2-3-4 ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการของบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไขแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือโครงการที่ 1 กับโครงการที่ 5 ซึ่งทาง ป.ป.ช.จะติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับหน่วยงานของรัฐในการนำงบประมาณแผ่นดินมาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ นั้น ควรต้องพิจารณาถึงประโยชน์การใช้งานของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงศักยภาพในการดูแลรักษาของหน่วยงานที่จะเป็นผู้รับมอบสิ่งปลูกสร้างมาใช้ในพื้นที่ด้วย ไม่งั้นก็จะเป็นภาระให้กับคนรุ่นหลังต้องเข้ามาแก้ปัญหา