นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล ทำหน้าที่ สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน ที่อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า สมาคม ยังคงเดินหน้าให้ความรู้ เรื่อง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) อย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 จังหวัดที่ 4 ที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากที่ผ่านมาดำเนินการมาแล้ว 3 จังหวัด และยังคงได้รับความสนใจจาก ทนายความอาชีพเข้าร่วมอบรบเกือบ 100 ราย ซึ่งรวมกับการสัญจรที่ผ่านมา มีทนายความอาชีพ ผ่านการอบรมเกือบ 500 กว่าคนแล้ว และคาดหวังว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่ม – Class Action จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องนักลงทุนที่ให้ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการลงทุน การจัดสัญจรปีนี้ ทาง TIA ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป้าหมายของการจัดสัญจรให้ความรู้เชิงลึกทั้งทางทฤษฎีและแนวทางปฎิบัติและการนำมาใช้ในอาชีพจริง ให้กับทนายความอาชีพทั่วประเทศไทย ในการนำกฎหมาย Class Action มาใช้ในตลาดทุนไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลและปกป้องนักลงทุน ดังนั้นการเติมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนสำคัญให้การบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การมาสัญจรที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด และมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มาเปิดห้องค้า 12 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีนักลงทุนและมีการลงทุน ดังนั้นการให้ความรู้ Class Action กับทนายความ จะเป็นกลไกในการดูแลนักลงทุนได้ 

นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า การเดินสายสัญจรให้ความรู้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองทุน และการสัญจรให้ความรู้เรื่อง Class Action ถือว่าเป็นการต่อยอดและสร้างองค์ความรู้ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีประสิทธิภาพได้ กองทุนเราตั้งมา 2562 ผ่านมา 5 ปี แล้วเราเป็นองค์กรอิสระ และมีภารกิจสำคัญ 4 ข้อ และการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนต่อบุคคลทั่วไปเป็นหนึ่งในภารกิจหลักด้วย เพื่อได้นำไปปกป้องและดูแลนักลงทุนได้

นายวันชัย บุญฤทธิ์ ประธานสภาทนายความ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ TIA ที่มาสัญจร ภาคใต้ตอนบน นำความรู้มาเผยแพร่ และเป็นเรื่องใกล้ตัว และนำความรู้ที่เกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์ในอาชีพ เติมความรู้ใหม่ให้กับทนายความ เพราะอาวุธเราคือความรู้ที่ต้องมี และนำไปประกอบอาชีพได้ และนี่คือโอกาสดีที่จะได้เติมความรู้ใหม่ๆ เรื่อง Class Action ให้กับอาชีพ 

ด้าน นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล รองประธานศาลอุธรณ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้บรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีกลุ่มกับทนายอาชีพที่เข้าร่วมอบรม ว่า บทบาทของ กฎหมาย ClassAction จะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยเรามีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นการที่ TIA จัดโครงการอบรมถือเป็นเรื่องที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม คดีที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือ สิทธิผู้บริโภค, หลักทรัพย์และการแข่งขันทางการค้า, สิ่งแวดล้อม, คดีละเมิดที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และสิทธิพลเมือง เป็นต้น ขณะที่กลุ่มบุคคลที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปไม่จำกัดจำนวนสูงสุด สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยต้องเหมือนกัน อาศัยข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน ความเสียหายของแต่ละคนไม่เหมือนและไม่เท่ากันได้

“นับตั้งแต่เริ่มที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มขอแนะนำให้ทำรายละเอียดทั้งหมดของกลุ่มบุคคลที่เข้ามา และทำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำคดีทั้งหมด เพราะเมื่อถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ประเด็นเหล่านี้ก็ต้องพร้อมที่จะเปิดเพื่อการพิจารณา เพราะตามกฎหมายนั้นผลตอบแทนของคดีที่จะได้รับ 30% ของมูลฟ้องนั้นทนายความจะต้องถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด”

ขณะที่ นายชลวัชร อัศวพิริยอนันต์ รองเลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีประโยชน์โดยรวมมากเพราะเป็นการดำเนินการครั้งเดียวแต่คำพิพากษาจะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกกลุ่ม และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม บนสิทธิ และข้อเท็จจริงเหมือนกัน ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน รวมทั้งมีระยะเวลาที่เร็วกว่าและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการดำเนินคดีตามขบวนการปกติ เพราะคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ถือว่าเป็นที่สุดแล้ว 

ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์จะมีลักษณะความผิด 2 ลักษณะคือ ผิดสัญญาที่จะครอบคลุมทั้งเรื่องของหุ้น และหุ้นกู้ที่ออกแล้วผู้ออกไม่ทำตามสัญญา ส่วนการละเมิดนั้นคือการบอกกล่าวข้อมูลอันเป็นเท็จและข้อมูลที่เป็นถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์นำไปเผยแพร่ต่อทำให้เกิดการเข้าใจผิด การสร้างราคาและปั่นหุ้น สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ การเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มเมื่อคำตัดสินของศาลออกมาไม่ว่าคดีนั้นจะมีผลชนะหรือแพ้คำตัดสินจะครอบคลุมทั้งหมด และคนที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม หรือคนที่เป็นสมาชิกกลุ่มก็ไม่สามารถฟ้องในคดีเดียวกันได้อีก 

นอกจากนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์ การแบ่งกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำคดีซึ่งในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์จะแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มคนที่เข้าซื้อหุ้น และยังคงถือหุ้นอยู่เต็มจำนวนที่ซื้อ 2. กลุ่มที่เข้าซื้อก่อน และระหว่างทางมีการขายออก แต่ไม่ได้ขายทั้งหมดและยังมีหุ้นถืออยู่ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความยากในการคิดและประเมินมูลค่า และ 3. ขายหุ้นออกทั้งหมดแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่เข้าลงทุนหุ้นที่มีปัญหาซึ่งกลุ่มนี้จะมีการจัดการเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการก่อนเมื่อเห็นว่าเกิดปัญหา