สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ว่า นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาเร่งความพยายามปิดกั้นการสื่อสารฟรีบนอินเทอร์เน็ต และขัดขวางการเข้าถึงเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น) ซึ่งสามารถใช้เพื่อหลบเลี่ยงการถูกปิดกั้นเว็บไซต์ได้

รัฐบาลทหารพยายามควบคุมการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า นอกจากการปิดกั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว รัฐบาลทหารยังสุ่มค้นหาโทรศัพท์มือถือของผู้คนตามท้องถนน เพื่อตรวจสอบแอปพลิเคชันวีพีเอ็น และจะมีการปรับเงินหากตรวจพบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวมีความเป็นทางการหรือไม่

มากไปกว่านั้น กองทัพปิดการสื่อสารของพลเรือนในพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบ แม้การดำเนินการดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์ทางยุทธวิธี แต่ทำให้ยากต่อการเปิดเผยหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในเมียนมารายงานว่า เกือบ 90 เมืองจากทั้งหมด 330 เมืองทั่วประเทศ ถูกตัดขาดบริการอินเทอร์เน็ตหรือการโทรฯ หรือถูกตัดขาดทั้ง 2 บริการ โดยเมื่อปี 2564 ผู้ต่อต้านกองทัพเมียนมาอาศัยโซเชียลมีเดียเพื่อจัดการประท้วงบนท้องถนน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เนื่องจากการต่อต้านด้วยสันติวิธีลุกลามไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธและสื่ออิสระถูกปิดตัวลง หรือถูกบังคับให้อยู่ใต้ดิน การเผยแพร่ข่าวทางออนไลน์จึงเพิ่มขึ้น

เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า บริการวีพีเอ็นฟรีเริ่มขัดข้อง ในเวลาเดียวกัน บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของเมียนมา ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ เอ็มพีที, โอเรดู, อตอม และมายเทล รวมไปถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ เปิดเผยว่า มีคำสั่งห้ามการเข้าถึงโซเชียลมีเดียหลักต่าง ๆ ตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร แต่ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศห้ามใช้วีพีเอ็นอย่างเป็นทางการ

อนึ่ง รัฐบาลทหารร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เมื่อปี 2564 เพื่อลงโทษบุคคลที่ลักลอบใช้วีพีเอ็น โดยเสนอบทลงโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000,000 จ๊าต (ราว 70,388 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES