โดยมีจุดขายโชว์นึ่งสด อิงโบราณ ปรับรสชาติให้เป็นสูตรหวานน้อยตามความนิยมของลูกค้ายุคที่รักสุขภาพ แต่อร่อยเหมือนเดิม วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอ…

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ คิว–พูลทรัพย์ เริกเขียว อายุ 34 ปี เจ้าของร้านขนม “ขนมถ้วยนึ่งสดเจ้าขา” ได้เล่าให้ฟังว่า ทำขนมถ้วยขายมานานกว่า 7 ปีแล้ว ฝ่าฟันอุปสรรคมาเยอะจนกระทั่งมาถึงวันนี้ เดิมเป็นพนักงานขับรถส่งของบริษัทเอกชนสถานะการเงินไม่ค่อยดีนัก ต้องใช้แบบเดือนชนเดือน พอแฟนตั้งท้อง ก็มองอนาคตว่ามีลูกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้องหาอาชีพเสริม ก็คุยกับแฟนว่าจะทำอะไรดี และด้วยความที่เราชอบกินขนมไทย คิดว่าน่าจะทำขนมไทย ที่ไม่ยุ่งยากในการทำ แต่อร่อย ทุกคนกินได้ และที่สำคัญเงินลงทุนน้อย สรุปคือ ขนมถ้วย เป็นหนึ่งในขนมที่เขาชอบกิน

สูตรก็เป็นการลองผิดลองถูก แล้วทำให้คนในหมู่บ้านชิมหลายครั้ง เพื่อให้ช่วยติชม บ้างก็บอกว่าขาดหวานไปนิด, บ้างก็บอกกะทิเค็มไปหน่อย ตัวแป้งกระด้างไป ฯลฯ เราก็เอาคำติชมนั้นมาปรับเปลี่ยนจนสูตรมันเข้าที่ ทุกคนบอกอร่อย เราก็ไม่รอช้าออกขายวันเสาร์อาทิตย์ที่ตลาดนํ้าไทรใหญ่ โห้! ไม่คิดว่ามันจะขายดีขนาดนี้ คนรุมซื้อทำไม่ทัน แป้งกับนํ้ากะทิหมดต้องวิ่งไปผสมทำมาใหม่ วันต่อมาต้องเพิ่มวัตถุดิบ 2 เท่าตัว คิดว่าเรานึ่งขนมโชว์สดดึงคนมามุงดู แล้วลองซื้อกินดู ชิมแล้วก็ซื้อเพิ่ม 2-3 กล่องเอาไปฝากคนที่บ้าน เพราะขนมมีความนุ่ม หนึบ หวานกำลังดี หอมกลิ่นใบเตย หน้ากะทิจะมันและหอมนํ้ากะทิสด เมื่อผมเห็นช่องทางรายได้ เพราะออกขายแค่ไม่กี่วันก็ได้เงินเท่ากับทำงานทั้งเดือน จึงหาตลาดเพิ่ม ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงาน ตอนนี้ทำขายส่งตามร้านก๋วยเตี๋ยวเรือวันละ 1,000 กว่าถ้วย ทำส่งคนที่มารับไปขายตามออร์เดอร์อีก 2,000 กว่าถ้วย ส่วนที่ขายเองก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์ ที่ตลาดลาดหลุมแก้ว”

คิว บอกอีกว่า ตอนนี้ทำแป้งสำเร็จขนมถ้วยขายด้วย มี แป้งกะทิ กับ แป้งใบเตย เมื่อลูกค้าต่างจังหวัดอยากรับขนมถ้วยไปขาย แต่ขนมของที่ร้านไม่ใส่สารกันบูดเป็นกะทิสด อาจจะเสียได้ง่าย จึงแนะนำให้ซื้อแป้งสำเร็จขนมถ้วย มีแป้งกะทิ กับ แป้งใบเตย ซึ่งจะสอนวิธีผสมให้เสร็จ

อุปกรณ์ มี..ถ้วยตะไลสำหรับนึ่งขนม, หม้อนึ่งขนาดใหญ่, ชุดเตาแก๊ส, กานํ้าอะลูมิเนียมสำหรับหยอดแป้งและนํ้ากะทิ, ไม้พายจิ๋วสำหรับแคะขนม, กะละมัง, ถาด, หม้อสเตนเลส และเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ให้หยิบยืมจากในครัว

วัตถุดิบ ที่ใช้สำหรับทำ “ตัวขนม” มี แป้งข้าวเจ้า 300 กรัม, แป้งท้าวยายม่อม 3 ชต., แป้งถั่วเขียว 1 ชต., นํ้าตาลทราย 600 กรัม (ปรับลดหรือเพิ่มได้ตามชอบ), นํ้าหางกะทิ 300 กรัม, นํ้าใบเตยคั้นสด 1,000 กรัม…ส่วนผสม “หน้ากะทิ” ใช้หัวกะทิ 500 กรัม, แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม, นํ้าตาลทราย 3 ชต., เกลือป่น 1/2 ชช.

ขั้นตอนการทำ “ขนมถ้วยใบเตย”

เริ่มจากผสมนํ้าหางกะทิกับนํ้าตาลทราย ใช้ทัพพีคนให้นํ้าตาลละลาย ใส่แป้งข้าวเจ้า, แป้งท้าวยายม่อม, แป้งถั่วเขียว และนํ้าใบเตยคั้นสดที่เตรียมไว้ลงไป นวดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำส่วนผสมที่ได้ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง (เพื่อความละเอียดของแป้งและเอาเศษผงออก) เป็นอันเสร็จส่วนตัวขนม ตั้งพักไว้รอนึ่ง

หน้ากะทิ นำหัวกะทิใส่ลงหม้อ ตามด้วยแป้งข้าวเจ้า, เกลือป่น คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากันดี กรองด้วยตะแกรงตาถี่ เพื่อให้แป้งเนียนดี ตั้งพักไว้สักครู่

ตั้งหม้อนึ่งใส่นํ้าลงไปให้เกินครึ่งใช้ไฟปานกลางระหว่างรอนํ้าร้อน นำถ้วยตะไลเรียงในลังถึงนึ่งให้ร้อน ประมาณ 5 นาที เมื่อถ้วยขนมร้อนแล้ว หยอดตัวขนมถ้วยใบเตยลงไปประมาณ ½ ของถ้วย เปิดฝานึ่ง 7-8 นาที เพิ่มไฟค่อนไปทางแรง เมื่อตัวขนมสุกแล้วเปิดฝาและเบาไฟลง หยอดส่วนผสมหน้ากะทิลงไปให้เต็มทุกถ้วย ปิดฝานึ่งอีก 10 นาที เพิ่มไฟแรงเพื่อให้หน้ากะทิแตกมัน (ใครไม่ชอบหน้ากะทิแตกมันให้ใช้ไฟปานกลางก็พอ) พอขนมสุกแล้วยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น แล้วแคะขนมพร้อมรับประทาน

คิว บอกว่า การหยอดหน้าขนมให้สวยน่ารับประทาน มือต้องเบา หยอดให้เต็มถ้วย และขนมถ้วยที่ดีเวลาแคะต้องล่อนไม่ติดถ้วย หน้ากะทิต้องแตกมัน มีรสเค็มนิด ๆ มีความมัน หอมนํ้ากะทิสด ตัวแป้งต้องนุ่ม หวานเล็กน้อย หอมนํ้าใบเตย

ราคาขาย “ขนมถ้วยตะไล” เจ้านี้ ขายชุดละ 25 บาท (มี 6 ถ้วย) ส่วนแป้งสำเร็จขนมถ้วย ขายกิโลกรัมละ 140 บาท

สนใจขนมโบราณที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่าง “ขนมถ้วยใบเตย” ก็ลองฝึกทำดูหรือจะซื้อหามาลองชิมดู เจ้านี้ ขายวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ตลาดลาดหลุมแก้ว เพราะหลัก ๆ จะทำส่งตามร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ และส่งตามออร์เดอร์ลูกค้า หากต้องการสั่งไปใช้ในงานบุญ-งานเลี้ยง ฯลฯ ติดต่อ คิวพูลทรัพย์ เริกเขียว เจ้าของกรณีศึกษารายนี้ได้ที่ โทร. 09-7298-7877 และ 08-5516-1073 และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์!!.

คู่มือลงทุน….ขนมถ้วยใบเตย
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย
รายได้ ขาย 25 บาท/6 ชิ้น
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดสด, ตลาดนัด, ย่านชุมชน
จุดที่น่าสนใจ ขนมไทยยิ่งโบราณคนยิ่งชอบ

………………..
เชาวลี ชุมขำ

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่