เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายโธมัสค์ มาซัวร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้นำธุรกิจระบบคมนาคม ด้านการขนส่งมวลชน และขนส่งระบบรางของโลกสัญชาติเยอรมนี เปิดเผยถึงแผนธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งระบบรางในประเทศไทย ผ่านระบบ Zoom ว่า ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป ซีเมนส์ โมบิลิตี้ มุ่งมั่นจะพัฒนาระบบรถไฟ และระบบรางของไทยให้อัจฉริยะสมบูรณ์แบบด้วยระบบ “ดิจิทัล ซีเมนส์ โมบิลิตี้” ด้วยการนำสุดยอดเทคโนโลยีด้านคมนาคมขนส่งระบบราง และระบบควบคุมระดับสูงที่หลายเมืองชั้นนำในโลกมาใช้ อาทิ รถไฟ VDE 8 ในประเทศเยอรมนี ที่ช่วยลดอัตราการเดินทางจากเบอร์ลินถึงมิวนิก จาก 6 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง และรถไฟฟ้า Velaro RUS ในประเทศรัสเซีย ที่ใช้วิ่งระหว่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถึงมอสโก ระยะทาง 650 กิโลเมตร (กม.) ด้วยเวลาเดินทางเพียง 3.5 ชั่วโมง (ชม.) เป็นต้น
นายโธมัสค์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยยกระดับการเดินทาง และพัฒนาขับเคลื่อนให้ทุกการเดินทางของคนไทยง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริม และพัฒนาการขับเคลื่อนระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ทั้งนี้ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ มีนวัตกรรมและบริการเกี่ยวกับระบบรางมากมาย อาทิ โครงสร้างการขนส่งระบบราง (Rail Infrastructure) โซลูชันระบบรถไฟแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ตู้รถไฟ (Rolling Stock) ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ (Intelligence Traffic Systems) โซลูชันการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Intermodal Solutions) และการซ่อมบำรุงระบบราง (Customer Services)
นายโธมัสค์ กล่าวอีกว่า ซีเมนส์ โมบิลิตี้ มีประสบการณ์การบริหารจัดการโครงการต่างๆ ด้านระบบรางในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ 1.รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ได้ปรับปรุงระบบของ BTS ให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบรางอัตโนมัติ ตั้งแต่การเปิดให้ใช้บริการครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน 2.รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ที่ช่วยเชื่อมต่อการคมนาคมทำให้ชีวิตของคนไทยสะดวกสบายมากขึ้น 3.ทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal) 4.รถไฟทางคู่ “จิระ-ขอนแก่น” ดูแลงานออกแบบและติดตั้ง ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม
และ 5.ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาล้อยางไร้คนขับคันแรกของไทยที่ผลิตโดยซีเมนส์ โมบิลิตี้ นำมาวิ่งใต้อุโมงค์ เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT 1) ทั้งนี้เบื้องต้นทราบว่าในปี 66-68 ท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนนำ APM มาให้บริการด้วย ซึ่งระบบ APM ถือเป็นระบบที่ยืดหยุ่นในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีเที่ยวบินและผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ก็สามารถเพิ่มขบวนรถได้ทันที หากผู้โดยสารน้อยก็สามารถลดขบวนลงได้
นายโธมัสค์ กล่าวด้วยว่า ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ยังมีนโยบายการดำเนินงาน เพื่อลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์ให้ได้มากที่สุดภายในปี 73 และมุ่งหวังให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์แห่งอนาคต Moving Beyond หรือการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนรองรับนโยบายของประเทศไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียด้วย.