บูลลี่“ การ “กลั่นแกล้งรังแก” ไม่ว่าจะทาง การกระทำ หรือ การใช้คำพูด ไม่ว่าจะในออนไลน์ หรือในสังคมทั่วไป ยัง “เป็นปัญหาสำคัญ“ และนับวัน “ในไทยยิ่งเกิดปัญหาจากกรณีนี้เพิ่มขึ้น!!“… ทั้งนี้ การมี “เหยื่อบูลลี่” เกิดขึ้น…หลายครั้งที่ “นำสู่เหตุเศร้าสลด” จึงจำเป็นที่สังคมไทยต้องช่วยกัน “ป้องกัน” และช่วยกัน “แก้ไข” ซึ่งการ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” ทำให้เป็น “พื้นที่ปลอดบูลลี่” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล นี่ก็น่าพิจารณา โดยกรณีนี้มี“โมเดล“น่าสนใจ…

ที่ชุมชนในพื้นที่ ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน
ที่ได้สร้าง พื้นที่ปลอดบูลลี่“ ในชุมชน

เกี่ยวกับ “โมเดลน่าสนใจ” โมเดลนี้…เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ ศูนย์การเรียนรู้สุขศิริ พื้นที่ ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็น“กรณีตัวอย่าง“ที่น่าพิจารณา โดยที่ศูนย์การเรียนรู้นี้ได้มีการ “ให้ความช่วยเหลือเหยื่อบูลลี่” ด้วยการ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” ขึ้นมา ผ่านทางการจัดกิจกรรม “โครงการเพาะกล้าครีเอเตอร์ชุมชน“ เพื่อส่งเสริมโอกาสและช่วยลดผลกระทบให้กับเหยื่อบูลลี่ ภายใต้การสนับสนุนจาก โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. ซึ่งสามารถทำให้ชีวิตของเหยื่อบูลลี่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จนเหยื่อบูลลี่กล้ากลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง

กับเรื่องนี้… วิลาวรรณ แก้วยองผาง หรือ สายทอง อายุ 32 ปี หนึ่งในเหยื่อบูลลี่เรื่องของความพิการ และได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์การเรียนรู้สุขศิริ ให้เข้ามาร่วมกิจกรรม จนส่งผลทำให้ชีวิตของเธอเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ได้บอกเล่าประสบการณ์และผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไว้ว่า… เธอเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่บ้าน โดยมีรายได้เฉลี่ยวันละ 100 กว่าบาท ซึ่งเธอได้ย้ำไว้ว่า… ไม่ได้ซีเรียสเรื่องรายได้ แต่ที่ทำร้านกาแฟนี้ก็เพื่อให้ตัวเธอยุ่ง ๆ เข้าไว้ เพื่อจะได้ไม่เครียด จะได้ไม่คิดวิตกกังวลถึง “แผลใจ“ ในอดีต…จากการที่ “ถูกคนบูลลี่“เกี่ยวกับ “ความผิดปกติทางร่างกาย“

ทั้งนี้ “แผลใจในชีวิต” ที่มีสาเหตุมาจากการ “ถูกบูลลี่” นั้น สายทองยังเล่าไว้ว่า คุณค่าชีวิตของเธอค่อย ๆ หายไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ด้วยความที่เธอเป็นคนพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง และเวลาเดินก็เหมือนจะล้มลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลจากการที่เธอหยุดหายใจไปเกือบ 20 นาทีหลังคลอด ทำให้สมองขาดออกซิเจนไปนานพอสมควร โดยความผิดปกติทางร่างกายนี้เองที่ทำให้เธอนั้น โดนบูลลี่ตั้งแต่เด็กเรื่อยมา เพราะเพื่อน ๆ มองเธอเป็นคนพิการ โดยเธอรู้สึกโกรธและโมโหทุกครั้งที่โดนบูลลี่เรื่องนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก จึงแก้ปัญหาด้วยการเอาตัวเองออกห่างจากสังคมรอบตัว โดยพูดคุยและเล่นกับเพื่อนให้น้อยที่สุด

จากวัยเด็ก…พอเธอโตขึ้นเธอก็เริ่มอ่านหนังสือธรรมะ หรือไม่ก็ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อจะหาทางหลุดพ้นจากความเครียดเพราะถูกบูลลี่ ทำให้เธอเริ่มคิดบวก และให้อภัยคนที่บูลลี่ชีวิตเธอ แต่ถึงแม้จะทำได้ในระดับหนึ่ง ทว่าสิ่งที่ยังทำให้เธอไม่สามารถหลุดพ้นได้ นั่นก็คือ การกลับเข้าสู่สังคม และ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ที่เธอยัง รู้สึกไม่ไว้ใจ

“ยังรู้สึกกลัวกลัวว่าจะได้รับสิ่งที่ไม่ดีเหมือนตอนเด็ก ๆ และกลัวคนหัวเราะเยาะในเวลาที่เราพูดไม่ชัด ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้เราจึงใช้ชีวิตเงียบ ๆ ด้วยการเปิดร้านขายกาแฟ และอยู่แต่กับลูก ๆ และครอบครัว เพราะเราไม่กล้าเข้าสังคม“ …เป็น “ผลกระทบ” ที่น่าเห็นใจ ที่ “เหยื่อบูลลี่” คนนี้ได้ถ่ายทอดไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้

อย่างไรก็ดี วันหนึ่งก็มีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นกับเธอคนนี้ เมื่อ กัลยา ขาวโสม แห่งวิสาหกิจชุมชนสุขศิริ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ “เพาะกล้าครีเอเตอร์ชุมชน” ได้มาชักชวนเธอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพ และฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งเธอใช้เวลาคิดอยู่นานกว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ จนวันหนึ่งได้นั่งมองปลาทองที่ว่ายวนในตู้ และคิดได้ว่า…ชีวิตเธอจะเหมือนปลาทองในตู้ไม่ได้ จึงตัดสินใจร่วมโครงการดังกล่าวในที่สุด

“วันแรกที่เข้ามา จำได้ว่ากลัวมาก ทำให้กวาดสายตามองทุกคนที่มองมา ด้วยแผลในใจที่ถูกบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราไม่ไว้ใจคนรอบข้าง แต่พบว่าทุกคนที่นี่ต่างยิ้มให้ รวมทั้งกล่าวทักทาย ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่าที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย“ …ทางเหยื่อบูลลี่คนเดิมบอกเล่าไว้ถึงประสบการณ์วันแรกที่เข้ามาร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

ทั้งนี้ หลังจากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เธอก็ได้เรียนรู้ทักษะการเป็น “ครีเอเตอร์ชุมชน“ ทักษะขายของออนไลน์ รวมถึงยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายคลิปวิดีโอและการตัดต่อ โดยเป็นทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางขายออนไลน์ ซึ่งหลังจากได้เรียนรู้ เธอก็ได้นำไปปรับใช้กับร้านกาแฟของเธอ ที่จากเดิมนั้นมียอดขายต่อวันไม่เท่าไหร่…ก็ส่งผลทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นเธอยังนำทักษะทำขนมปังและวาฟเฟิลที่ได้เรียนรู้มาจัดทำหลักสูตรสอนทำขนมออนไลน์ ที่ช่วยทำให้มีรายได้เข้ามาอีกทาง อย่างไรก็ดี แต่สิ่งที่เธอรู้สึกดีมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็คือ… การรู้ถึงคุณค่าตัวเองมากขึ้น ที่ทำให้กล้าเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จน ลบแผลใจที่เกิดจากการถูกบูลลี่ได้“ ในที่สุด…

“ดีใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมซึ่งไม่เพียงเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังคอยเติมพลังบวกให้อีกด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับที่นี่ ตัวเองก็คงว่ายวนอยู่ในความรู้สึกแย่ ๆ ที่เป็นบาดแผลจากการถูกบูลลี่เหมือนเดิม“…ทาง สายทอง ระบุไว้ถึง “ผลลัพธ์-ความเปลี่ยนแปลง” หลังร่วมกิจกรรม “ชุมชนสุขศิริ” ที่ไม่เพียงเสริมทักษะอาชีพ แต่ยังเน้น…

“ช่วยเหยื่อบูลลี่“ ให้ กลับเข้าสู่สังคม“
ทำ พื้นที่ปลอดภัย“ ให้ ลบแผลใจ“
“แก้ปัญหาบูลลี่“ โมเดลนี้ น่าสนใจ“.