“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”รายงานว่า ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กำลังเร่งปรับปรุงขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ชุดที่ 3 จำนวน 4 คัน ให้แล้วเสร็จทั้งหมดประมาณปลายปี 67 และเริ่มนำมาให้บริการประชาชนได้ภายในปี 68 โดยรถชุดที่ 3 นี้ เป็นรถในจำนวน 17 คันที่ขนย้ายมาประเทศไทยเมื่อประมาณปลายปี 64 โดยปรับปรุงแล้วเสร็จ 2 ชุด 8 คัน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนออกให้บริการประชาชนในรูปแบบรถท่องเที่ยวอยู่ในขณะนี้
ขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ชุดที่ 3 จำนวน 4 คัน ได้ปรับปรุงโครงสร้างภายนอก และทำสีคันแรกแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างทดลองเครื่องยนต์ ตกแต่งภายใน และทำความสะอาด ขณะเดียวกันได้เริ่มงานคันที่ 2 แล้ว อยู่ระหว่างทำสี ขบวนรถชุดที่ 3 จะใช้โทนสีครีมแดงเลือดหมู แตกต่างจากขบวนรถชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ที่ใช้โทนสีขาวคาดสีม่วงเขียว สำหรับสีครีมแดงเลือดหมู และสีขาวคาดสีม่วงเขียว เป็นสีเดิมของขบวนรถชุด KIHA 183 ที่ใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยสีครีมแดงเป็นสีที่การรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (JNR) ใช้มาดั้งเดิมกับรถดีเซลราง และรถไฟฟ้า หลังจากแปรรูปแต่ละบริษัทของกลุ่ม JR ก็ไปปรับปรุงตัวรถทำสีตามรูปแบบของบริษัทตัวเอง โดยสีขาวคาดสีม่วงเขียว เป็นสีของทาง JR HOKKAIDO
คอนเซปต์ของขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ชุดที่ 3 ยังเหมือนกับขบวนรถชุดที่ 1 และ 2 ที่ยังคงใช้เฉดสีดั้งเดิมของญี่ปุ่น ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น แต่รูปแบบลวดลายจะเป็นรูปแบบที่ รฟท. กำหนดเอง โดยในส่วนของชุดที่ 3 จะเป็นแนววินเทจ เหมือนได้นั่งรถไฟย้อนยุคของ JNR ภายในเน้นออกแบบให้มีความเป็นดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งรูปภาพ และตัวหนังสือต่างๆ มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น และไทยผสมผสานกัน ทั้งนี้ ยังคงเป็นขบวนรถที่นำมาใช้เป็นขบวนรถท่องเที่ยวเหมือนเดิม
ยังเหลือรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 อีก 5 คัน เป็นชุดที่ 4 ชุดสุดท้าย 4 คัน และรถสำรอง 1 คัน คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงได้ภายในปี 68 ในอนาคต รฟท. มีแผนปรับปรุงใหญ่รถไฟ KIHA 183 ด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนล้อ และเครื่องยนต์รถเพื่อให้สามารถเดินรถในระยะทางที่ไกลขึ้นได้ จากปัจจุบันที่ให้บริการเดินรถระยะสั้น รวมระยะทางไป-กลับ ไม่เกิน 400 กิโลเมตร (กม.) สำหรับรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 แบ่งเป็น 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ อีก 1 ตู้เป็นรถสำรอง ใน 1 ขบวนมี 216 ที่นั่ง
ภายในตัวรถมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งเครื่องปรับอากาศ เบาะที่นั่งปรับเอนได้ ห้องน้ำระบบปิด เป็นขบวนรถที่ไม่ต้องใช้หัวรถจักร มีเครื่องยนต์ในตัว ทำความเร็วได้สูงสุด 100 กม./ชั่วโมง ทั้งนี้การนำรถรถไฟ KIHA 183 มาดัดแปลง ปรับปรุง และทำสีใหม่ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่คันละประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งหากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคันละ 80-100 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดัดแปลงที่มีความคุ้มค่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับ รฟท. ได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่ถึง 400 เท่า ในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดซื้อหารถใหม่ได้ รถที่ปรับปรุงแล้วสามารถใช้งานได้นานประมาณ 15-20 ปี
***ห้ามคัดลอกเนื้อหาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
Photo credit / ขอบคุณแหล่งข่าว