ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร​ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานมอบเกียรติบัตร​ แก่นักเรียนต้นแบบด้านการเกษตรดีเด่นระดับจังหวัด ในกิจกรรมขยายผลโครงการสนองแนวทางพระราชดำริฯ​ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ประจำปี 2564 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักเรียนในโครงการฯ​ ให้ดำเนินการสานต่อแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชดำริให้นักเรียนดำรงชีวิตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

สำหรับการแข่งการทำแปลงเกษตรที่มีมาตรฐานระดับจังหวัด ที่ ศอ.บต. จัดขึ้นนั้น มีโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 74 โรงเรียน นักเรียนโรงเรียนละ 1 คน โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดร่วมกับ ศอ.บต. ได้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนต้นแบบจากการนำเสนอกิจกรรมผ่านระบบซูม พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมการดำเนินกิจกรรมของนักเรียนที่ประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งในปี 2564 มีนักเรียนต้นแบบที่ชนะการแข่งขันการทำแปลงเกษตรที่มีมาตรฐานระดับจังหวัด จำนวน 5 ราย จากโรงเรียนต้นแบบ 5 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนตาเนาะแมเราธ​ อ.เบตง โรงเรียนบ้านยือโร๊ะ อ.รามัน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 (บ้านบ่อน้ำร้อน) อ.เบตง โรงเรียนอนุบาลเบตง​ (สุภาพอนุสรณ์) อ.เบตง และโรงเรียนบ้านปาแดรู อ.ยะหา จ.ยะลา ตามลำดับ

พลเรือตรี สมเกียรติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงโครงการครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน​ ว่า นับเป็น​พระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ทอดทิ้งพสกนิกรในทุกพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ จชต.​ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้การส่งเสริมกิจกรรมอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในพื้นที่ เริ่มจากโรงเรียนตระเวนชายแดน นำไปสู่โครงการครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้านเพื่อให้ครัวเรือนของนักเรียนพออยู่พอกินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ นำไปสู่การกินดีอยู่ดี ศอ.บต.จึงดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อสนองแนวพระราชดำริของโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของโครงการครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน ที่ ศอ.บต. สนับสนุน ขณะนี้สามารถฝึกปฏิบัติการทำเกษตรแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงกับคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในการรับนักเรียนที่รักการเกษตร ในโครงการดังกล่าวเข้าสู่การเรียนระดับปริญญาตรี เพื่อนำมาความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เพื่อให้อาชีพเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นคนรุ่นใหม่ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนต่อไป