นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าพบ และหารือร่วมกับ Ms. LI ying รองประธานบริหารและฝ่ายสารสนเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport) พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมข้อมูล และการจัดการภายในท่าอากาศยานฯ โดยเฉพาะการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพ และบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน โดยกระทรวงคมนาคม มีแนวทางในการนำระบบ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในท่าอากาศยานของประเทศไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย รวมถึงสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นการผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 42 ปัจจุบันมีอาคารผู้โดยสารรวม 3 แห่ง มีช่องจอดอากาศยาน 372 ช่อง และมี 3 เส้นทางวิ่ง (Runway) โดยมีจำนวนสายการบินให้บริการรวม 82 สายการบิน ในจุดหมายปลายทางรวม 221 แห่ง แบ่งเป็น เส้นทางภายในประเทศ 138 แห่ง และเส้นทางระหว่างประเทศ 83 แห่ง อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้เริ่มกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Airport) ตั้งแต่ภายในปี 56 โดยได้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการออกแบบและจัดเก็บรวบรวมข้อมูล (Big Data) ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณวิเคราะห์และจัดระบบบริหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยาน อาทิ การให้บริการช่องจอดอากาศยาน การเช็กอินบัตรโดยสาร การโหลดสัมภาระ สายพานลำเลียงกระเป๋า เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในปี 63 ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้ใช้ยุทธศาสตร์ iBCIA 1355 มาดำเนินงานกับท่าอากาศยาน โดยมีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานเป็นท่าอากาศยานที่ปลอดภัย (Safe) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) เป็นระบบอัจฉริยะ (Smart) และเป็นมิตรกับมนุษยชาติ (Humanistic) นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบโหลดเที่ยวบิน (Flight Load Monitoring) เพื่อเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องพนักงานขนกระเป๋า, การทำความสะอาดเครื่องเมื่อเครื่องลงจอด และการบำรุงรักษาเครื่องก่อนที่จะขึ้นบินอีกครั้ง ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลา จากเดิมใช้เวลา 4 ชั่วโมงให้ลดลงเหลือเพียง 2 นาทีเท่านั้น
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลผ่านระบบ AI มาเป็นระยะ 9 ปี เพื่อประมวลผลในด้านต่าง ๆ และคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เกิดความล่าช้าด้วย ในส่วนของศูนย์ควบคุมข้อมูลของท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อบริหารจัดการ ทั้งในฝั่งเขตการบิน (Airside) และเขตนอกการบิน (Landside) โดยมีการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์กล้องวงจรปิดภายในท่าอากาศยานถึงกว่า 16,000 ตัว รวมถึงระบบเซ็นเซอร์อีกกว่า 22,000 ตัว ทำให้การควบคุมความเคลื่อนไหวภายในท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่ผู้โดยสารขาออก เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน เพื่อไปทำการเช็กอิน โหลดกระเป๋า และไปขึ้นเครื่อง (ผู้โดยสารขาออก) และผู้โดยสารขาเข้า เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้มีคนรอใช้บริการระบบรถสาธารณะจำนวนกี่คน และใช้เวลากี่นาที ซึ่งการนำ AI มาใช้ประมวลผลนี้จะทำให้สามารถบริหารจัดการท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้อย่างมาก รวมถึงการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยเช่นกัน.