นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ร่วมคณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามประเด็นปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาล ณ แก้มลิง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง และตรวจเยี่ยมอุตสาหกรรมโคนมในพื้นที่ พร้อมร่วมหารือประเด็นปัญหา และการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่แก้มลิงนั้น กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ แบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย1.พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก – ค้าส่ง 40 ไร่ 2.โซน B พื้นที่อยู่อาศัยระยะยาว โครงการบ้านเพื่อคนไทย 41 ไร่ 

และ 3.โซน C พื้นที่สวนสาธารณะ และแก้มลิง 43 ไร่ ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 32,640 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก 22,000 ลบ.ม. ทั้งนี้หาก รฟท. ขุดลอกลึกเพิ่มอีก 1 เมตร จะสามารถรองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 27,200 ลบ.ม. รวมเป็น 49,200 ลบ.ม. นอกจากนี้ รฟท. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ2 จุด เพื่อสอดรับกับโครงการระบบระบายน้ำบ้านหัวนาล่างของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแก้มลิง โดยได้จัดสรรงบประมาณ ปี 67 สำหรับดำเนินการ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ก.ค.67 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม ยังมีแผนพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ การผลักดันโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนตะวันตก – ตะวันออก (เหนือ – ใต้) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว คาดว่าเมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M81) แล้วเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวใช้เดินทางเข้า – ออกจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนเส้นหลักที่เชื่อมต่อกับ M81 การจราจรหนาแน่น กรมทางหลวงชนบท(ทช.) จึงมีการศึกษาเพื่อออกแบบก่อสร้างถนนวงแหวน เพื่อช่วยรองรับการจราจรที่หนาแน่นขึ้นในอนาคตประกอบด้วย 1.โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งเหนือ เมืองกาญจนบุรี เป็นโครงการศึกษาเพื่อออกแบบตัดถนนใหม่เป็น 4 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 30 กิโลเมตร(กม.) 

และ 2.โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งใต้ พร้อมสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลองเป็นโครงการศึกษาเพื่อการออกแบบตัดถนนใหม่โดยเป็นถนน 4 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 55 กม. พร้อมศึกษาเพื่อการออกแบบสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลอง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรถนนสายหลักที่เชื่อมต่อกับ M81 ซึ่งทั้ง 2 โครงการใช้ระยะเวลาศึกษาออกแบบ 2 ปี  (ปี 69-70) เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน.