ที่ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศานาวัดศิริชัยเจริญ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู พระครูโกวิทสุตาภรณ์ (พระมหาสมดี) เจ้าอาวาสวัดศิริชัยเจริญ นำพุทธศาสนิกชนในเขตปกครองและคณะขับร้องสรภัญญะจาก 5 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมงานสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาชาวบ้าน ในงานประเพณีทอดเทียนพรรษาและขับร้องสรภัญญะหมู่ เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี ความปรองดอง สมานฉันท์ และความร่วมมือของเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีเป็นสื่อกลางดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตอันดีงามของสังคมไทย โดยมีพระครูวิมลธรรมากร (หลวงตาลิน) เจ้าคณะอำเภอโนนสัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสมศักดิ์ แสนอินทร์ นอภ.โนนสัง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพระฤาษีเกศแก้ว สำนักปฏิบัติธรรมอาศรมบ้านโคกกุง อ.เมืองหนองบัวลำภู และภาคีเครือข่ายร่วมอนุโมทนา

พระครูโกวิทสุตาภรณ์ (พระมหาสมดี) ผอ.ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวัดศิริชัยเจริญ เจ้าของโล่รางวัล “วัฒนคุณาธร” ประเภทบุคคล ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2563 กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนในภาคอีสาน จะมีประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำ นั้นคือประเพณีการทอดเทียนพรรษาหรือเรียกอย่างว่าประเพณีทอดเทียนรวม (โฮม) อันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นต่อรุ่น จะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านหนึ่ง นำต้นเทียนไปบูชาอีกวัดหนึ่ง พร้อมการขับร้องสรภัญญะอันเป็นการนำเอาหลักธรรมคำสอนคติสอนใจ

โดยอิงคติธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ อิงจารีตประเพณี และวัฒนธรรมในท้องถิ่นหรือสถานการณ์ที่กลายเป็นตำนาน เรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับนับถือ ซึ่งนักปราชญ์โบราณท่านผูกติดไว้กับประเพณีทอดเทียนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อเป็นสื่อคติสอนใจพุทธศาสนิกชนในการทำบุญและดำเนินชีวิตนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่ายิ่ง สมควรที่เราชาวพุทธควรอนุรักษ์ไว้สืบไป โดยทางวัดศิริชัยเจริญ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เกรงว่าวัฒนธรรมประเพณีนี้จะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อสืบสานให้คงอยู่

สำหรับปีนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการรวมคนหมู่มากในการจัดกิจกรรม วัดศิริชัยเจริญมีมาตรการเข้มในการคัดกรองและเฝ้าระวัง การรวมกลุ่มคนจึงได้มีการปรับรูปแบบการสืบสานประเพณีดังกล่าว ด้วยการเชิญกลุ่มขับร้องสรภัญญะในวัยเยาวชนหนุ่มสาว และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีชื่อเสียงและเป็นต้นแบบของการขับร้องสรภัญญะในจังหวัดทางภาคอีสาน อาทิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ร้อยเอ็ด และหนองบัวลำภู มาสาธิตรูปแบบการขับร้องสรภัญญะให้กับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ได้รับฟังและเห็นรูปแบบลีลาการขับร้องสรภัญญะ ในครั้งนี้ด้วย