พลเอก เดชา เหมกระศรี เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เปิดโผคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ อย่างเป็นทางการ โดยมีวาระบริหารงาน 4 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เป็นบุคคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ ทั้งนักธุรกิจ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการกีฬา ข้าราชการระดับสูง ทหาร ตำรวจ และมีสุภาพสตรีร่วมเป็นคณะกรรมการ ตามกฎของ “ยูซีไอ” สำหรับคณะที่ปรึกษานำโดย นายอภัย จันทนจุลกะ อดีต รมว.แรงงาน เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับเป็นประธานที่ปรึกษา ด้าน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คมนาคม และอดีต รมช.คลัง เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิประโยชน์และหารายได้ ขณะที่ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ อดีต รมช.สาธารณสุข เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายจริยธรรม ส่วน “เสธ.โต” พลเรือเอก สุรวุฒิ มหารมณ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการกีฬาไทย เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิค และนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความฯ เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย
ทั้งนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้การรับรองการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ขึ้นใหม่ทั้งชุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ในการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอรีน พระราม 9 ซึ่งสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวน 46 สโมสร จากที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 48 สโมสร ไว้วางใจ เทคะแนนเสียงให้ พลเอก เดชา เหมกระศรี ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจักรยานฯ อย่างเป็นเอกฉันท์ อีก 1 สมัย และนับเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ สามารถแต่งตั้งได้จำนวน 19 คน แต่จากการที่รัฐบาลได้มีโครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ดังนั้นคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ อีก 2 ตำแหน่ง จะมาจาก 2 หน่วยงานดังกล่าว โดยจะได้มีการเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย มีคำสั่งแต่งตั้งในภายหลัง
สำหรับคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาจักรยานฯ ชุดใหม่ โดยคณะกรรมการสมาคมฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 17 คน ได้แก่ พลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานฯ, นายเอกชัย เศวตสมภพ อุปนายก คนที่ 1, นายประธาน ไชยประสิทธิ์ อุปนายก คนที่ 2, พลเอก วีระกูล ทองมา อุปนายก คนที่ 3, พลเอก นภนต์ สร้างสมวงษ์ อุปนายก คนที่ 4, นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง อุปนายก คนที่ 5, พลศักดิ์ ศรีเพ็ญ อุปนายกและนายทะเบียน, นายเอกลาภ ทองบริสุทธิ์ อุปนายกและฝ่ายแพทย์, พลตรี ภูษิต เฟื่องฟู อุปนายกและฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา, นางมยุรี ฐานานุศักดิ์ เป็นอุปนายกและฝ่ายสวัสดิการ, นายรัฐการ จูตะเสน อุปนายกและฝ่ายสนับสนุน, นายธงชัย พรเศรษฐ์ อุปนายกและฝ่ายกฎหมาย, นายประเทศ บุญยงค์ อุปนายกและฝ่ายเทคนิค, นางยอดขวัญ รัศมี อุปนายกและฝ่ายเยาวชนและสตรี, นางสาวมณีรัตน์ รุ่งเรืองศักดิ์ อุปนายกและฝ่ายต่างประเทศ โดยมี นาวาเอก ฐิตพร น้อยรักษ์ เลขาธิการและเหรัญญิก, นายเอกพงศ์ โพธิ์อ่อง รองเลขาธิการและฝ่ายประชาสัมพันธ์
พลเอก เดชา เปิดเผยว่า สำหรับการบริหารงานในวาระที่ 3 เป้าหมายหลักคือการผลักดันนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยคว้าโควตาไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศสให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายได้โควตา “ปารีสเกมส์” จำนวน 5 ที่นั่ง นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ก็เตรียมการในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปี 2568 ตนเองในฐานะประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน หรือ เอซีเอฟ ก็จะพิจารณาในเรื่องของรายการชิงเหรียญทองให้ครบทุกประเภท รวมไปถึงการเตรียมทีมนักกีฬาด้วย
“นอกจากนั้น ก็มีแผนยุทธศาสตร์ส่งนักกีฬาไปฝึกซ้อมและแข่งขันในต่างประเทศ หรืออาจส่งนักกีฬาไปฝังตัวอยู่กับสโมสรอาชีพดัง ๆ ของทวีปยุโรป เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ส่วนการพัฒนาบุคลากร สมาคมกีฬาจักรยานฯ สนับสนุนให้ผู้ตัดสินของไทย ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์เพิ่มมากขึ้น และการส่งผู้ฝึกสอนออกไปเป็นวิทยากรในระดับนานาชาติ รวมทั้งการจัดอบรมผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และช่างซ่อมจักรยานระดับต่าง ๆ ภายในประเทศ สิ่งเหล่านี้คือแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่วางเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาวงการกีฬาจักรยานของไทยให้เจริญก้าวหน้า ดังเจตนารมณ์ในการบริหารงานที่ว่า มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และต่อยอดไปสู่กีฬาอาชีพ เราจะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทย” พลเอก เดชา กล่าวในตอนท้าย.