นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า กำลังศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี จาก 8 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พร้อมจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นคาดว่าจะศึกษาฯ แล้วเสร็จ และขออนุมัติโครงการฯ ในขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเสนอกระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปี 67 เปิดประกวดราคา และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 35 เดือนหรือประมาณ 3 ปี คาดแล้วเสร็จ และเปิดบริการภายในปี 71
โครงการพัฒนา ทชม. เฟส 1 วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นค่าออกแบบและค่าที่ปรึกษาจัดทำรายงานอีไอเอ 300 ล้านบาท, ค่าก่อสร้าง 1.25 หมื่นล้านบาท และสำรองราคา และภาษี 2.2 พันล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่พื้นที่ 7 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ปลายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังเดิมและปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารภายในประเทศทั้งหมดขยายพื้นที่จาก 3.5 หมื่น ตร.ม.เป็น 4.8 หมื่น ตร.ม. ขณะเดียวกันจะเพิ่มพื้นที่โถงพักคอยขึ้นเครื่องบิน, เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ, ติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน, สร้างทางยกระดับหน้าอาคารหลังใหม่, เพิ่มที่จอดรถจาก 2,340 คัน เป็น 3,940 คัน, เพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินภายในประเทศ และเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม. รองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับมาตรฐานสากล
ข้อมูลเดือน ม.ค.-มี.ค. 67 ทชม. มีผู้โดยสาร 2.44 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีแล้ว 12.61% เป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 1.75 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.46% และระหว่างประเทศ 6.84 แสนคน เพิ่มขึ้น 63.27% มีเที่ยวบิน 1.53 หมื่นเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 7.75% เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 1.09 เที่ยวบิน ลดลง 3.93% และระหว่างประเทศ 4.3 พันเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 55.16% คาดว่าในปี 67 ผู้โดยสารจะอยู่ที่ 11 ล้านคน 6.2 หมื่นเที่ยวบิน ปัจจุบันผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาแล้ว 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปี 62 ระหว่างประเทศยังไม่กลับมา 100% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มเป้าหมายหลัก
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การออกแบบอาคารหลังใหม่ ทอท.ได้แรงบันดาลใจจากร่มบ่อสร้างศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน สะท้อนภูมิปัญญา จ.เชียงใหม่ ที่มีชื่อไปทั่วประเทศ โดยใช้โครงสร้างเหล็กประกอบคล้ายเสาไม้ไผ่ที่เป็นคันและก้านร่ม
พร้อมเหล็กค้ำยันแผ่รอบเพื่อรับโครงหลังคาและถูกจัดวางห่างกันเป็นตารางกริดเสาสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อให้สอดรับกับรัศมีวงร่มตั้งแต่พื้นที่ภายนอกถึงภายในเสมือนผู้โดยสารอยู่ในร่มขนาดใหญ่ผสมผสานการออกแบบร่วมสมัย