เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุสำหรับข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี นั้น มติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 และนอกจากดูแลข้าราชการแรกเข้าแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการดูแลข้าราชการที่เกษียณและได้รับเบี้ยหวัดบำนาญอีกด้วย โดย ครม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 ที่มีสาระสำคัญคือการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยจะมีผลในวันที่ 1 พ.ค. 2567
นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ และได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบแล้ว ตามหนังสือที่ นร.1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2567 ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดดำเนินการปรับไม่ทัน การปรับขึ้นเงินเดือนจะให้มีผลย้อนหลัง รวมถึงได้มีการประสานงานกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางแล้ว จึงขอให้ข้าราชการและผู้ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมั่นใจได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการนั้น ก็เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ เพื่อให้ระบบราชการของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังคงคำนึงถึงผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่จะต้องดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงได้ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และจะส่งผลต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน” นางรัดเกล้า กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระดับปริญญาตรี เงินเดือนแรกเข้าไม่ต่ำกว่า 18,000 บาท ภายใน 2 ปี โดยปรับเพิ่ม 10% ต่อปี ระดับปวช. เงินเดือนแรกเข้าไม่ต่ำกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี โดยปรับเพิ่ม 10% ต่อปี เป็นจำนวน 2 ครั้ง
ตัวอย่าง เช่น ปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท ปีแรกจะปรับเป็น 16,500 บาท ปีต่อมาปรับอีก 10% ฉะนั้นภายใน 2 ปีจะทะลุเกิน 18,000 บาท ทั้งนี้ไม่ได้ปรับถ้วนหน้า หมายความว่าคนรับราชการมานานจะได้ปรับทุกตำแหน่งทั้งแผง เบื้องต้นปรับแค่แรกบรรจุเข้ารับราชการเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
สำหรับข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 18,000 บาท และ 15,000 บาท ให้มีการปรับชดเชยย้อนหลังให้ได้ระดับมาตรฐานเดียวกันการปรับเพิ่มเงินเพื่อการครองชีพชั่วคราว โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราว น้อยกว่า 14,600 บาท จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 2,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 14,600 บาท ทั้งนี้ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการกำหนดเพดานเงินไว้ที่ไม่เกิน 13,285 บาทการปรับเพิ่มเงินเพื่อการครองชีพชั่วคราว โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราว รวมแล้วน้อยกว่า 10,000 บาท รัฐบาลจะเติมเงินให้ถึง 11,000 บาท จากเดิมที่รัฐบาลก่อนกำหนดเพดานที่ 10,000 บาท
ทั้งนี้การปรับอัตราเงินเดือนฯ จะใช้งบประมาณในปีแรก 7,200 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 600 ล้านบาท ส่วนปีที่สองใช้ 8,800 ล้านบาท แต่คาดว่างบประมาณประจำปี 2567 จะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนั้นในปีแรกอาจใช้งบประมาณ 5 เดือน ส่วนงบประมาณที่จะใช้เป็นเงินเพิ่มเพื่อการครองชีพชั่วคราว ตั้งไว้ปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และให้ทุกหน่วยงานเริ่มดำเนินการได้เลยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป.