สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่า ยานเบพิโคลอมโบ ((BepiColombo)) บินผ่านใกล้ดาวพุธ (Mercury) ครั้งแรก ของทั้งหมด 6 ครั้ง ตามแผนที่กำหนดไว้ เมื่อเวลา 23.34 น.วันศุกร์ ตามเวลามาตรฐานสากล (06.34 น.วันเสาร์ ตามเวลาในประเทศไทย) โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดาวพุธ ดึงการเคลื่อนตัวของยานให้ช้าลง และเข้าสู่ระดับความสูงไม่ถึง 200 กิโลเมตรจากพื้นผิว ก่อนจะทำการบันทึกภาพขาวดำ ส่งมายังศูนย์ควบคุมภารกิจบนพื้นโลก ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ ในเมืองดาร์มสตัทช์ เยอรมนี
โฆษกอีเอสเอ เผยว่า ภาพชุดแรกที่ส่ง มาจากยานเบพิโคลอมโบ แสดงให้เห็นขั้วเหนือของดาวพุธ และภูมิประเทศพื้นผิว ลักษณะคล้ายแผลฝีดาษ รวมถึงแอ่งเลอร์มอนตอฟ ขนาดความกว้าง 166 กิโลเมตร
เบพิโคลอมเบีย เป็นโครงการสำรวจดาวพุธร่วม ระหว่างอีเอสเอ กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ จาซา (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) ออกเดินทางจากโลก เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2561 ด้วยจรวจขนส่ง แอเรียน-5 ยานเบพิโคลอมเบียจะบินผ่านดาวุธอีก 5 ครั้ง ก่อนจะปล่อยยานสำรวจบริวาร Mercury Planetary Orbiter ของอีเอสเอ และยาน Mercury Magnetospheric Orbiter ของจาซา เข้าสู่วงโคจรของดาวพุธ ในปี 2568 เพื่อทำการศึกษาวิจัย แกนกลางและพื้นผิว ดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่สุดของระบบสุริยะ.
เครดิตภาพ – ESA
เครดิตคลิป – SciNews