เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ที่บริเวณจุดหยุดรถถ้ำกระแซ เส้นทางท่องเที่ยวสถานีน้ำตก-ช่องเขาขาด ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) และบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว โดยได้ให้ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบที่หยุดรถถ้ำกระแซ อาทิ ลานจอดรถ จุดพักคอย ทางเดินจุดชมวิว ความสะอาด ให้เรียบร้อย และระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่พร้อมใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ต้องไม่กระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งถ้ำกระแซ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ให้ปรับปรุงการบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ ร้านค้าต้องได้มาตรฐานเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวได้ให้กรมทางหลวง (ทล.) พิจารณาความเหมาะสมการจัดที่จอดรถ หรือจุดอำนวยความสะดวกใกล้สถานีน้ำตก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่วนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควในความดูแลของ รฟท. ให้นำระบบไฟฟ้าส่องสว่างที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความสวยงาม สามารถดึงเสน่ห์ของตัวสะพานข้ามแม่น้ำแควออกมาได้อย่างตระการตา สมกับความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสัญลักษณ์ของ จ.กาญจนบุรี
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดทุกด้าน โดยกำชับการจัดงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่ ต้องพัฒนาให้มีความเป็นสากล ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยการนำศักยภาพ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่มาพัฒนาต่อยอด สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยสั่งการทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการ ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้รองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมดการเดินทางเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รองรับการเดินทางให้เพียงพอ รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และไร้ปัญหาการจราจร
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เป็นการยกระดับการให้บริการของรถไฟไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับการเดินทางด้วยระบบรางในอนาคต และสนับสนุนการท่องเที่ยว ช่วยให้การเดินทางเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ มุ่งหวังกระตุ้นเมืองรองสู่การท่องเที่ยวเมืองหลัก ด้วยการนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ผลักดันให้เกิดความดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเพิ่มมากยิ่งขึ้น.