เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงวันที่ 15-18 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วย สุพรรณบุรี ได้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ สรงน้ำหลวงพ่อโตทองคำศักดิ์สิทธิ์ พระคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี เสริมมงคลชีวิตต้อนรับปีใหม่ไทย สนุกสนานกับปาร์ตี้สงกรานต์ ปาร์ตี้โฟมและอุโมงค์น้ำมหาสนุก ต่อมาได้มีประชาชนและเด็กที่เดินทางไปเล่นน้ำปาร์ตี้โฟมและอุโมงค์น้ำต่างมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ ซึม ทยอยเข้ารักษาตัวที่ รพ.เจ้าพระยายมราช และรพ.เอกชน ประมาณ 50 ราย โดย นพ.รัฐพล เวทสรณสุธี นายแพทย์สาธารณสุข จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า หลังพบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก ทางสาธารณสุขได้เข้าไปสอบสวนโรค พบว่าผู้ป่วยสัมผัสร่วมกันนั้นมีอะไรบ้าง เช่น เรื่องของอาหารการกิน สัมผัสจากสิ่งแวดล้อมตรงไหน
จากการสอบสวนของโรค พบว่าจุดสัมผัสของโรคเป็นเรื่องของไปรวมตัวกันเล่นสงกรานต์ที่ดังกล่าว จึงคาดว่าเป็นสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น คือติดเชื้อ ณ เบื้องต้นได้รับการรายงานจากทีมแพทย์ เป็นกลุ่มไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง โดยเชื้ออาจติดมากับมือ ของเล่นที่เปื้อน หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อสัมผัสและเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ทำให้มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียได้ โดยการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ซึ่งขณะนี้คนไข้ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่มีเคสหนักแต่อย่างใด แต่ด้วยจำนวนเคสที่มีมากพอสมควรทำให้เราต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งของ รพ.เจ้าพระยายมราช และรพ.เอกชน
นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นประวัติ พบว่าคนไข้ทั้งหมดมาจากจุดสัมผัสร่วมจุดนั้นจุดเดียว ขอฝากผู้สัมผัสที่เดินทางไปเล่นสงกรานต์ที่ดังกล่าว ถ้ามีอาการข้างต้นให้รับประทานน้ำเยอะๆ ทานอาหารที่ย่อยง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้ายังมีอาการอาเจียน รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
นพ.รัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการเก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 (ดำเนินการในกรณีสอบสวนการระบาดโรคอุจจาระร่วง) 1.เก็บตัวอย่างน้ำ จากปลายท่ออุโมงค์น้ำ และปลายสายยางที่ใช้ผสมโฟม จำนวน 2 ตัวอย่าง 2.เก็บตัวอย่างน้ำจากก๊อกล้างมือบริเวณห้องน้ำ จำนวน 1 ตัวอย่าง ตรวจหาคลอรีนตกค้าง 3.เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก่อโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) น้ำจากปลายท่ออุโมงค์น้ำ (น้ำประปาที่ใส่ถังสำรองน้ำ) 2) น้ำจากปลายท่ออุโมงค์น้ำ (สูบจากบ่อน้ำธรรมชาติ) 3) น้ำจากปลายสายยางที่ใช้ผสมโฟม (น้ำประปา) นำส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาตรวจประมาณ 14 วันทำการ
ด้าน นางศศิวิมล ชีพนุรัตน์ อายุ 29 ปี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ตนพร้อมด้วยลูกสาววัย 9 ขวบ และลูกแฝดชายวัย 1 ขวบ 7 เดือน ได้พากันเล่นสงกรานต์ที่ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 18 เม.ย. ตอนเช้า ทั้งหมดมีอาการอาเจียน ซึม ท้องเสีย จึงรีบพาเข้ารักษาที่รพ.เจ้าพระยายมราช และแพทย์ให้แอดมิตดูอาการ