เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ร่วมคณะตรวจราชการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ แหลมนิคม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าว กรมเจ้าท่า (จท.) ได้วางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือ ทั้งฝั่งอ่าวไทย รองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
นางมนพร กล่าวต่อว่า และยังครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามัน เพื่อรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ปัจจุบัน จท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบและคัดเลือกพื้นที่เสร็จแล้ว สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คนต่อปี รองรับเรือ Cruise 118 ลำต่อปี คาดการณ์รายได้ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี มีมูลค่า 8,500 ล้านบาท สัดส่วนของรายได้โครงการแบ่งเป็น รายได้จากท่าเทียบเรือ 91% และรายได้เชิงพาณิชย์ 9% ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา
นางมนพร กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาค่าใช้จ่ายของโครงการ 10,430.67 ล้านบาท ผลประโยชน์ของโครงการ ประกอบด้วย การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว การหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ค่าตรวจคนเข้าเมือง/ค่าพิธีศุลกากร และมูลค่าซาก 46,417.23 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 15.57% โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการได้ภายในเดือน ก.ค.-ก.ย. 67 จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน การออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เริ่มต้นการก่อสร้างประมาณเดือน ม.ค. 72 แล้วเสร็จเดือน พ.ย. 75 และเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 75
โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่รวมประมาณ 47 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่บนชายฝั่ง ได้แก่ อาคารบริการและที่จอดรถ และถนนสาธารณะ 15 ไร่ พื้นที่นอกชายฝั่ง ได้แก่ สะพานขึง อาคารผู้โดยสาร 3 ชั้น และท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และเรือยอชท์ 32 ไร่ อย่างไรก็ตามยังได้กำชับ จท. เร่งรัดการพัฒนาท่าเทียบเรือเกาะสมุยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จภายในปี 68 เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือสำหรับรองรับเรือขนส่งนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญ (Landing Pier) และผู้โดยสารจากเรือสำราญ (Cruise) ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะสามารถรองรับเรือเล็กรับส่งระหว่างฝั่งกับเรือขนาดใหญ่ (Tender) พร้อมกันได้ครั้งละ 4 ลำ มีอาคารพักคอยรองรับผู้โดยสาร (Terminal) พื้นที่ 1,800 ตารางเมตร รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 1,300 คน/วัน
นางมนพร กล่าวด้วยว่า ในโอกาสนี้ได้ร่วมกับคณะนายกฯ ติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในอำเภอเกาะสมุย ณ เตาเผาขยะสมุย เยี่ยมชมแปลงทุเรียนสาธิต ณ สวนทุเรียนนายชัยณรงค์ ทองสุข เยี่ยมชมนิทรรศการสินค้า OTOP และประชุมหารือบูรณาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับการขยายถนนรอบเกาะสมุย และความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ทั้งนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้วางแผนก่อสร้างบูรณะปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุย แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 ตอน ได้แก่ ตอน 1 (บ้านหน้าทอน-บ้านหัวถนน) ระหว่าง กม.0+000.000-กม.14+000.000 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร (กม.), ตอน 2 (บ้านใต้-บ้านหน้าทอน) ระหว่าง กม.40+100.000-กม.50+063.013 ระยะทาง 9.963 กม. และตอนที่ 3 (บ้านเฉวง-บ้านใต้) ระหว่าง กม.29+531.000-กม.40+100.000 ระยะทาง 10.569 กม.
ส่วนตอนที่ 4 (บ้านหัวถนน-บ้านเฉวง) ระหว่าง กม.14+000.000-กม.29+531.000 ระยะทาง 15.531 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีผลงาน 91.288% ล่าช้ากว่าแผนงาน 8.712% คงเหลืองานปูผิวแอสฟัลต์คอนกรีต ประมาณ 400 เมตร พร้อมตีเส้นด้วยสีเทอร์โมพลาสติก งานไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมหม้อแปลง งานติดตั้งป้ายจราจร และงานติดตั้งราวกันตก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 67 สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่เดือน ม.ค. 66- มี.ค. 67 แบ่งเป็น ผู้โดยสารในประเทศ ขาเข้า 1.4 ล้านคน และขาออก 1.45 ล้านคน ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขาเข้า 1.04 แสนคน และขาออก 1.15 แสนคน โดยมีแผนจะปรับปรุงระบบไฟหัวทางวิ่ง 17 อยู่ระหว่างการเจรจาขอเช่าพื้นที่กับเทศบาลท้องถิ่น และจะขอขยายเที่ยวบินที่ให้บริการ จาก 50 เที่ยวบิน/วัน เป็น 70 เที่ยวบิน/วัน.