เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่ท่าเรือท่าเตียน นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดท่าเรือท่าเตียน ราชรถยิ้ม : ท่าเรือท่าเตียน สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงศูนย์กลางคมนาคมว่า กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินแผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือจำนวน 29 แห่ง งบประมาณรวม 799.798 ล้านบาท แบ่งเป็น ก่อสร้างท่าเรือ 629.98 ล้านบาท และ ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในท่าเรือ 170.5 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือทั้ง 29 ท่า อย่างต่อเนื่องกว่า 30,000 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 60-70% ถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เมื่อปี 62 เดินทางแบบ 100% มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 40,000-50,000 คนต่อวัน

สำหรับท่าเรือท่าเตียน เป็น 1 ใน 29 ท่าเรือที่กรมเจ้าท่าร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจรเรียบร้อย ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการท่าเรือท่าเตียนราว 3,500-4,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชาวยุโรปกว่า 80% ชาวจีน 15% และชาวไทย 5% เนื่องจากท่าเตียนมีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ และ วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก

นางมนพร กล่าวต่อว่า กรมเจ้าท่าจึงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างท่าเรือท่าเตียนเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร ใช้งบประมาณ 39.047 ล้านบาท ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก โดยการตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมบานหน้าต่างที่ใช้ลูกฝักเพื่อตบแต่ง พร้อมสีตัวอาคารที่ยึดตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า มีอาคารพักผู้โดยสาร 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือ 6×12  เมตร 4 ลูก สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ได้แก่ ป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด ทางลาดผู้พิการ โป๊ะเทียบเรือสามารถรองรับเรือต่าง ๆ อาทิ เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 ท่าให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเลือกท่าเรือที่มีศักยภาพและใช้บริการหนาแน่น เช่น ท่าสาทร ท่าช้าง ท่าเตียน และ ท่าบางโพ นำมาเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเชิงพาณิชย์สัดส่วนเอกชนลงทุน 70% และ รัฐบาล 30% ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการพัฒนาให้เป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสมในการดำเนินการใช้สอยพื้นที่ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือมีการแบ่งโซนติดตั้งเป็นเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันดำเนิการควบคู่ไปกับการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการในปี 67 จากนั้นคาดว่าในปี 68 จะเห็นการนำร่องท่าเรือในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า สำหรับพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ปัจจุบันกรมเจ้าท่าก่อสร้างท่าเรือเสร็จแล้วทั้งหมด 9 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าสาทร และ ท่าเตียน

อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 5 ท่า วงเงิน 149.952 ล้านบาท ได้แก่ 1.ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% คาดแล้วเสร็จ เม.ย.67 2.ท่าพระราม 5 ผลงาน 45% คาดแล้วเสร็จ พ.ค.67 3.ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% คาดแล้วเสร็จ ส.ค.67 4.ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% คาดแล้วเสร็จ พ.ย.67 และ 5.ท่าเกียกกาย ผลงาน 24% คาดแล้วเสร็จ ธ.ค.67 สำหรับท่าเกียกกาย เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้ กทม. ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ได้ขอรับงบในปี 68 จำนวน 169.4 ล้านบาท ปรับปรุงเพิ่มอีก 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา หากได้รับงบจะจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับจ้าง เพื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย.68

และ เตรียมขอรับงบปี 69 จำนวน 180.9 ล้านบาท ปรับปรุงเพิ่มอีก 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 1, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง หากได้รับงบจะจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับจ้าง เพื่อก่อสร้างในปี 69 และปรับปรุงท่าเรือเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 29 ท่า ภายในปี 70

นอกจากนี้จะของบประมาณในปี 68-69 จำนวน 170.5 ล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในท่าเรือ ประกอบด้วย ระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ ระบบบริหารจัดการข้อมูลด้วย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบตั๋วและเครื่องตรวจสัมภาระ และ ระบบกล้อง CCTV เป็นต้น

การพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยท่าเรือให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น เช่น รถโดยสาร (รถเมล์) รถไฟ รถไฟฟ้า ได้อย่างไร้รอยต่อ ประชาชนได้รับความสะดวก และปลอดภัย ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำภายในประเทศอีกด้วย