นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ สนับสนุนนโยบาย การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองและสุขภาวะคนตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ผลักดันพัฒนาพื้นที่รกร้างไม่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ในรูปแบบสวน 15 นาที เพื่อให้คนเมืองกรุง สามารถเข้าถึงการออกกำลังกายได้ง่าย สะดวก และร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สํานักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และ welpark จัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการงานกรุงเทพมหานคร (สวน 15 นาที) เพื่อสานต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานสําหรับการขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุงเทพฯ และสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางกายและทางใจสําหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งผ่านการอบรมแล้ว 2 รุ่น จํานวน 50 คน
ด้าน น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อํานวยการสํานักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดัน พื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นพื้นที่ว่าง เส้นทางสัญจร พื้นที่สวนสาธารณะหรือสวนส่วนกลางชุมชนทุกขนาด แม้กระทั่งพื้นที่ในสถานที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เอื้อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างกระฉับกระเฉงด้วยความปลอดภัย และมีปัจจัยด้านสุขภาพที่ดีอื่นๆ ประกอบตามบริบทพื้นที่ ตามพันธกิจของ สสส. คือ จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริม พลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ เพื่อการสร้าง เสริมสุขภาพ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าการปล่อยให้เกิดโรคแล้วจึงรักษา เพราะเป็นการสิ้นเปลือง ทั้งค่าใช้จ่ายและบุคลากรจํานวนมาก นอกจากนั้น ยังสูญเสียปีสุขภาวะที่ดีในช่วงบั้นปลายชีวิตของคนอีกด้วย
“การพัฒนาให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ที่สามารถให้ผู้คนสามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในวิถีชีวิต ได้อย่างเท่าเทียม เป็นหนึ่งในปัจจัยกําหนดสุขภาพที่จะส่งผลให้ผู้คนมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค คนเมืองกรุงจะสามารถเข้าถึงการออกกำลังกายได้อย่างง่ายดาย สะดวก ภายในพื้นที่สวนสาธารณะ สวนส่วนกลาง หรือพื้นที่ว่างบนอาคารต่างๆ”
นายยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ welpark และผู้ประสานงานเครือพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการดําเนินงานด้านพื้นที่สุขภาวะภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ทําให้พบ 9 ข้อค้นพบ ซึ่งจะนําไปสู่แนวทาง ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะแบบมีส่วนร่วม และขยายไปทั่วประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่ ข้อ 1. การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาวะคนและและสุขภาวะเมือง พบ แนวโน้มที่สามารถพัฒนาได้ 6 แบบ คือ 1.การออกแบบที่สอดรับกับผู้ใช้งานทั้งสังคมผู้สูงอายุ, สิทธิและหน้าที่รับผิดชอบพลเมือง และเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน 2.การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน 3.การลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน 4.การสร้างพื้นที่สุขภาวะ เช่น สวน 15 นาที 5.สร้างกิจกรรมทางกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ลดภาวะความเครียดและอาการ วิตกกังวล และ 6.ความมั่นคงทางด้านอาหาร
ข้อ 2. แนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว สู่การสร้างเสริมสุขภาวะคนและสุขภาวะเมือง ซึ่งสามารถพัฒนาได้ 6 ประเภท คือ พื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะแก่คนในชุมชน, พื้นที่เชื่อมต่อเมืองเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน, พื้นที่วิถีชีวิตและธรรมชาติชุมชนริมน้ำ, พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์จากส่วนร่วมของชุมชน พื้นที่แปลงเกษตรสําหรับคนเมือง และพื้นที่ความหลากหลายทางชีวะภาพของธรรมชาติในเมือง
ข้อ 3. การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสู่โครงข่ายพื้นที่สาธารณะสีเขียว ข้อ 4. นโยบายการกระตุ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เอกชนสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวใกล้บ้าน ด้วยรูปแบบความร่วมมือ 5 ประเภท ข้อ 5.กระบวนการและเครื่องมือการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวผ่านมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ข้อ 6. ฐานข้อมูลเพื่อการประเมินความเร่งด่วนในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวใกล้บ้าน ข้อ 7. หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยการนําการถอดบนเรียน การทํางานนํามาออกแบบเป็น 5 หลักสูตร ข้อ 8. ต้นแบบความร่วมมือกับ 5 ภาคส่วนและกลไกการเชื่อมประสานความร่วมมือภาครัฐ และ ข้อ 9. การขยายผลสู่พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เตรียมจัดกิจกรรม “พัก กะ Park” พาร์คสร้างสุข เพื่อเมืองสุขภาวะ ในวันที่ 24 มี.ค. และ 31 มี.ค. 2567 เวลา 13.00-20.00 น. ที่ อุทยานเบญจสิริ ในงานมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมเสวนาต่างๆ กิจกรรมทางกาย กิจกรรมปั่นไปพัก ปั่นไป Park, เล่น สร้างสวน, พักใจที่ Park ผัก และดนตรีในสวน เป็นต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามดูข้อมูลได้ที่ เพจ : we park, City Cracker และ Healthy Space Alliance