เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ห้องประชุม BTD AUDITORIUM และ BTD HALL มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มกธ. พร้อมด้วย รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอาจารย์ ดร.ณัชชา ชัยรุ่งเรือง ผู้อำนวยการบริหารโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี ร่วมเปิดโครงการสัมมนา “Upskill ครูโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี” โดยมีคณะครูของโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี พร้อมทั้งมอบนโยบายประจำปีการศึกษา เพื่อให้คณาจารย์และบุคลากร ใช้เป็นหลักปฏิบัติด้านการจัดการเรียนการสอนที่ดี อีกทั้งเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามภาระหน้าที่ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งหมายให้เกิดผลพวงและประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนทุกระดับอีกด้วย นอกจากนี้ รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ และอาจารย์ ดร.ณัชชา ได้บรรยายแนวคิด หลักการการเป็นครูที่ดี กฎ ระเบียบ ในการปฏิบัติงาน รวมถึงขอบเขตการทำงานด้านต่างๆ เพื่อให้บุคลากรของโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี ได้เข้าใจหลักปฏิบัติ และการทำงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการณ์การประสานงานร่วมกันของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โครงการอบรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีเป้าประสงค์ที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์ของโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรีทุกระดับ ให้มีความพร้อมในการพัฒนาองค์ความรู้ แนวคิด เทคนิค กลยุทธ์ กลวิธี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สามารถเกื้อหนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในด้านแนวคิด แนวปฏิบัติการสอนที่ดี นวัตกรรม การสอนและการสื่อสาร ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้คณาจารย์ทุกคน สามารถนำองค์ความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด สอดคล้องกับการจัดการศึกษายุคใหม่

สำหรับการสัมมนา Upskill ครูโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี มีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้และเทคนิคพื้นฐานด้านการสอนที่ดี นวัตกรรม การสอนและการสื่อสาร พร้อมทั้งมีกิจกรรม Work Shop “สอนดี นวัตกรรม การสอนและสื่อสาร” ทั้งในระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.กมลมาลย์ ไชยศิริธัญญา อาจารย์ ชิตเวทย์ จันทศร อาจารย์ ดร.กลิ่นแก้ว มาตา อาจารย์ ดร.ธนาดล สมบูรณ์ อาจารย์ ดร.กัญณภัทร หุ่นสุวรรณ อาจารย์ ดร.สมาพร มณีอ่อน และอาจารย์ ดร.นันทวัฒน์ ภัทรกรนันท์ และกิจกรรม Workshop สำหรับคณาจารย์ที่สอนในระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการร่วมกันระดมแนวคิดด้านการสอนที่ดี นวัตกรรม การสอนและการสื่อสาร ตามกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดีด้านการสอนที่ดีและพึงประสงค์ ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ ทักษะ กลยุทธ์ กลวิธี และประสบการณ์ร่วมกัน ส่งผลให้คณาจารย์ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ เป็นแนวปฏิบัติร่วมกันในด้านการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย