นายสมกิตติ์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางเลี่ยงเมืองปัตตานี ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 418 (บ้านมะพร้าวต้นเดียว)-อ.ยะหริ่ง ระหว่าง กม.7+800-22+000 พื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก จนถึง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 14.200 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณ 1,851,933,109 บาท แล้วเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนสัญจรแล้วพบว่า ประชาชนทยอยใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง คาดว่าในช่วงเดือนแรกที่เปิดให้บริการอาจจะมีปริมาณจราจรสูงสุดถึง 5,000 คันต่อวัน และในอนาคตสามารถรองรับปริมาณเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 คันต่อวัน และอาจสูงถึง 20,000 คันต่อวัน

นายสมกิตติ์ กล่าวต่อว่า โดยได้ดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับทิศทางละ 2 ช่องจราจร ผิวจราจรชนิดแอสฟัลต์คอนกรีต มีเกาะกลางแบบเกาะร่องและแบบกําแพงคอนกรีตแบ่งทิศทางจราจร ก่อสร้างสะพาน 14 แห่ง ระบบระบายน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ตอน ดังนี้

ตอน 1 เริ่มต้น กม.7+800-9+900 พื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.100 กม. งบประมาณ 380,220,000 บาท ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และงานก่อสร้างสะพาน 3 แห่ง

ตอน 2 เริ่มต้น กม.9+900-12+050 ต.ลิปะสะโง และ ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.150 กม. งบประมาณ 366,140,000 บาท ได้ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และงานก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง

ตอน 3 เริ่มต้น กม.12+050-15+000 พื้นที่ ต.ปูยุด และ ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.950 กม. งบประมาณ 382,259,000 บาท ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง

ตอน 4 เริ่มต้น กม.15+000-18+500 พื้นที่ ต.บาราเฮาะ และ ต.สะดาวา อ.เมือง จ.ปัตตานี ระยะทาง 3.500 กม. งบประมาณ 338,736,109 บาท ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และงานก่อสร้างสะพาน 4 แห่ง

ตอน 5 เริ่มต้น กม.18+500-22+000 พื้นที่ ต.สะดาวา ต.คลองมานิง อ.เมือง และ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 3.500 กม. งบประมาณ 384,578,000 บาท ก่อสร้างทางแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และงานก่อสร้างสะพาน 3 แห่ง

ทางเลี่ยงเมืองปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ปัจจุบันโครงข่ายยังขาดความต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าใน จ.ปัตตานี และกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ เช่น จ.ยะลา นราธิวาส และ สงขลา เชื่อมไปประเทศมาเลเซียไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ส่งเสริมตามโครงการเมืองต้นแบบที่รัฐบาลให้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานอีกด้วย