นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศไทย ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะไร้อนาคต หรือ ซันเซท อินดัสทรี เพราะปัจจุบันยังมีทิศทางเติบโต ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ไม่ใช่แค่การผลิตเสื้อผ้า แต่มีการผลิตสินค้าที่หลากหลาย ผู้ประกอบการพยายามตลอด หันพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น เช่น ถุงมือแล่ปลา ถุงมือทนการบาด ถุงมือจับสัตว์อันตราย ถือเป็นสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ ล่าสุดอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ต่อยอดขยายไปช่องทางใหม่มากขึ้น เช่น ในปีนี้มีผู้ประกอบการไทยได้ร่วมมือกับบริษัทของญี่ปุ่นพัฒนาถุงลมนิรภัยสำหรับรถยนต์ เงินลงทุน 500 ล้านบาท หรือการเตรียมความพร้อมผลิตสิ่งทอ หรือเส้นใยรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับการผลิตเป็นสิ่งทอที่ไม่ต้องทอ เดิมเคยมีโรงงานประมาณ 20 แห่ง ตอนนี้เพิ่มเป็น 70 แห่ง รวมไปถึงการผลิตผ้ากันเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดเตรียมพัฒนา อาจทำเป็นน้ำยาเคลือบไปบนผ้า หรือเอาน้ำยาใส่ไปในเส้นใยเลย เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ประเมินสถานการณ์ในปีนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 14-15% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ติดลบไปมาก คือกลับมาประมาณ 70% แล้ว ส่วนปีหน้าคาดว่าจะโตได้ 10% แต่หากจะให้กลับไปเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้หากผู้ประกอบการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคโควิด-19 จะชดเชยส่วนที่ขาดหายไปตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ โดยในอนาคตมีผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ หรือ โปรดักต์ แชมเปี้ยน ที่ผู้ประกอบการไทยพัฒนาได้ 4 หมวดสำคัญ คือ 1. สิ่งทอทางการแพทย์ สินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีความต้องการต่อเนื่องในอนาคต
2. ชุดกีฬา ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และมีนวัตกรรม เช่น การผลิตเสื้อที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่ได้ หรือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หรือใช้ทดแทนนาฬิกาเพื่อสุขภาพที่วัดการเต้นของหัวใจได้ ซึ่งชุดในลักษณะนี้ ประเมินว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น 3. สิ่งทอในเชิงเทคนิค และสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผ้ากันไฟ ผ้าทนไฟ ผ้ากันไฟฟ้าสถิต กันเปื้อน ทำความสะอาดตัวเองได้ หรือผ้าที่ทนต่อการขูดขีดอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับผ้าที่ซักได้มากถึง 500 ครั้งแต่ยังมีสีสดใสคงทน โดยสินค้าเหล่านี้สามารถนำมาผสมผสานกับแฟชั่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้หลายเท่า 4. สิ่งทอ ที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี (ไบโอ-เซอร์คูลาร์-กรีน) ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่น่าจับตาและกำลังเป็นเทรนใหม่ของโลกที่หันไปให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“สินค้าทั้ง 4 หมวดนี้ จะกลายเป็นสินค้าอนาคตของประเทศไทยในการส่งออก ถ้าได้รับการสนับสนุนจริงจังจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การส่งออกสิ่งทอ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จากปัจจุบันมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แยกเป็น สิ่งทอ 1.1 แสนล้านบาท และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3-4 แสนล้านบาท ในช่วง 3-5 ปี”
อย่างไรก็ตามจะมีทางเป็นไปได้ภาครัฐ ต้องสนับสนุน 3 เรื่องหลัก คือ 1.สนับสนุนงบประมาณทางด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และการตรวจทดสอบ วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท จะช่วยผลักดันการส่งออกทั้งกลุ่มได้อีกอย่างน้อย 50,000–100,000 ภายใน 2-3 ปี 2.ขอให้รัฐตั้งศูนย์ทดสอบด้านสิ่งทอ ใช้เงินประมาณ 50-80 ล้านบาท เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบเป็นการเฉพาะ ทำให้ผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง และยังต้องรอผลการทดสอบเป็นเวลานาน และ 3.ขอให้รัฐร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำกลยุทธ์ร่วมกันระยะยาว จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยอาจเริ่มกระบวนการพัฒนาในภาคการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ด้านนี้
นายเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังหันมาเน้นการผลิตสิ่งทอในเชิงเทคนิค เช่น ถุงมือกันบาด ชุดพีพีอี รวมไปถึงชุดนักบินรบ ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศไทยร่วมกันพัฒนาชุดนักบินที่มีมาตรฐานสากล โดยเรื่องนี้มีความคืบหน้าแล้วกว่า 90% และหากพัฒนาสำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยทดแทนการนำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้อยากขอให้รัฐสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้เติบโตได้ในอนาคต สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมนำไปใช้ในภาคราชการก่อน เช่น เสื้อทหารใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ล่าสุดคนไทยสามารถชุดนักบินไปใช้กับกองทัพได้แล้ว ก็อยากให้หน่วยงานทหารสนับสนุน เพราะงบประมาณรัฐจากการจัดซื้อจัดจ้างต่อปีหลักแสนล้านบาท หากนำงบส่วนนี้มาช่วยผู้ประกอบการไทยจะเป็นเรื่องดี สินค้าไทยควรได้รับการยอมรับ การสนับสนุนจากภาครัฐก่อน จากนั้นจึงขยายผลในส่วนอื่น ๆ ต่อไป และไทยอยู่ระหว่างพัฒนานวัตกรรมผ้าม่านกันโควิดอีกด้วย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ขอให้รัฐออกมาตรการมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถทำได้ตั้งแต่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว ทั้งการกระตุ้นทางด้านตลาด มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ การลดค่าเช่า หรือออกค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปี 2565 นอกจากนี้อยากให้ประสานหน่วยงานด้านศึกษา รวบข้อมูล เครื่องมือทดสอบต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาสินค้าได้