นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดศรีสะเกษ ทำสืบทอดกันมามากกว่า 80 ปี ห้วยทับทันเป็นชื่อของอำเภอ ชาวบ้านห้วยทับทันเห็นว่า สถานีรถไฟห้วยทับทันมีคนสัญจรผ่านไปมาไม่น้อย จึงนำไก่บ้านที่เลี้ยงไว้มาย่างขาย ใช้หอมแดงและกระเทียมที่ปลูกในพื้นที่ในการหมักจนซึมเข้าด้านในเนื้อไก่ และใช้ไม้มะดันป่าริมห้วยทับทันมาหนีบย่างไก่ เนื่องจากคนห้วยทับทันคุ้นเคยกับไม้มะดันป่าเป็นอย่างดี

สำหรับไม้มะดันมีคุณสมบัติพิเศษ คือเหนียวไม่ฉีกง่าย ทนไฟ เมื่อหนีบไก่แล้วย่างจะมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวอ่อนๆ จากไม้มะดัน ช่วยเสริมรสชาติไก่ย่างให้อร่อยและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น ปัจจุบันไก่ย่างห้วยทับทันมีความต้องการจากผู้ซื้อจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนหันมาใช้ไก่สามสาย และไก่เนื้อในการผลิตไก่ย่างไม้มะดันเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีร้านไก่ย่างห้วยทับทันมากกว่า 45 ร้าน จนเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน ทำให้เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษมีรายได้มั่นคง

สินค้า GI เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและที่มา ปัจจุบันประเทศไทย มีสินค้า GI จำนวนทั้งสิ้น 198 สินค้า โดยมีสินค้าปศุสัตว์ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมูย่างเมืองตรัง จังหวัดตรัง เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และไข่ครอบสงขลา จังหวัดสงขลา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันสินค้าปศุสัตว์ “ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน” ให้เป็นสินค้า GI เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชนที่ขึ้นทะเบียน และที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้ผู้ผลิต เนื่องจากมีลักษณะพิเศษ ที่เป็นอัตลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า

นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ช่วยกระจายรายได้สู่ชนบท และส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชนในท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพของสินค้า และรักษาภูมิปัญญาของท้องถิ่นด้วย