เมื่อโลกกำลังให้ความสนใจเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งในหลาย ๆ ประเทศ ยังสนับสนุน ให้ประชาชน ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้แม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มทำโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งไว้บนพื้นดิน เพื่อสะสมพลังงานเก็บไว้ใช้ภายหลัง
แน่นอนว่าในอนาคตจะมีคนที่สามารถสะสมพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เกินความจำเป็น และมีคนที่อาจขาดแคลน พลังงานไฟฟ้า ช่องว่างตรงนี้เอง ที่จะทำให้เกิดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าขึ้น ซึ่งเรียกว่า Peer to Peer Energy Trading ที่เป็นระบบซื้อขายพลังงานระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงาน ทดแทนกับชุมชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งในการผลิตพลังงานสะอาดนอกเหนือจากไฟฟ้าแล้ว ผู้ผลิตจะได้สิทธิ์ใน RECs (Renewable Energy Certificates) นั่นก็คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่ในปัจจุบันมีการซื้อ ขายทั้งแบบซื้อพลังงานสะอาดพร้อม RECs และการซื้อพลังงานแยกออกจาก RECs ก็ทำได้เช่นกัน
จากข้อมูลกองบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก วงจรการซื้อขาย RECs จะประกอบไปด้วยผู้ซื้อ (Participant) ผู้ขาย (Registrant) และ ผู้ให้การรับรอง (Issuer) ซึ่งในบ้านเราคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยปกติการซื้อขายพลังงานจะต้องขายที่ 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC เมื่อผู้ซื้อแจ้งความต้องการซื้อไปยังผู้ขายที่ได้รับการรับรองจาก กฟผ. จากนั้น กฟผ. จะต้องทำการตรวจสอบผู้ขายและส่งมอบ REC ที่ผ่านการรับรองแล้ว ให้ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะชำระค่า REC ตรงให้กับผู้ขาย ซึ่งในการซื้อขายจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องรับผิดชอบในหลักหมื่นปลาย ๆ อาทิ ค่าขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้า ค่าต่ออายุการขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้า ค่าเปิด บัญชีซื้อขาย ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการรับรอง REC และค่า Redemption
จากข้อกำหนดดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การซื้อขาย RECs จึงดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นผูกขาดเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้นดูจะห่างไกลจาก SMEs หรือประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการซื้อขาย RECs ได้ แม้ว่า จะสามารถผลิตได้เอง อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตเพื่อซื้อขายกันนั้น หากมีจำนวนน้อยกว่า 1 MWh ก็จะยังไม่สามารถเข้าระบบการซื้อขายในปัจจุบันได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเกินไป เมื่อเทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้และทำการซื้อขายกัน ทำไมต้องสูญเสียมูลค่าของ RECs ในกลุ่มผู้ผลิต รายย่อยไปถึง 59% ของมูลค่า RECs ที่ผลิตได้ในประเทศไทย
บล็อคฟินท์ (Blockfint) ฟินเทคสตาร์ทอัพ ผู้เชี่ยวชาญการนำบล็อกเชนมาใช้งานในการคิดสร้าง ซอฟท์แวร์ระบบ ได้เล็งเห็นข้อจำกัดดังกล่าวในข้างต้น จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Gideon เพื่อตอบโจทย์การซื้อขาย RECs ให้กับผู้ซื้อขายรายย่อย เพื่อให้สามารถซื้อ RECs ได้ในหน่วยที่เล็กลง ที่เรียกว่า mini RECs โดยมีหน่วย 100 KwH =1 mini REC
“สำหรับ mini REC เป็นมิติใหม่ในการซื้อขาย RECs สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และประชาชนทั่วไป ที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดที่ปกติจะต้องทิ้ง RECs จำนวนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมูลค่าไม่ถึง 1 MWh ถือว่าครั้งนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ที่จะเชื่อมโยงผู้บริโภค ผู้ขาย ผู้ซื้อ และพันธมิตร ให้เข้าถึงการซื้อขาย RECs ได้ง่ายขึ้น โดยเราใช้แพลตฟอร์ม Gideon เป็นเครื่องมือในการรวบรวม mini REC เพื่อให้สามารถซื้อ ขายได้ทั้ง RECs และ mini-RECs อีกทั้งเรายังมองว่า mini RECs ยังสามารถส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ หรือคนทั่วไป หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มได้อีก เช่น การใช้ mini-RECs แลกรับส่วนลดสำหรับผลิตภัณฑ์ จากบริษัทพันธมิตรที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในสังคมไทย
โอกาสการเกิดของ mini RECs จะเป็นได้จริงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขาย และรวมถึงพันธมิตร ที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย และพิจารณาโดยยึดประโยชน์ สูงสุด ที่ผู้ผลิตไฟรายย่อย และประชาชนจะได้รับจากการซื้อขาย mini RECs ซึ่งจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ การใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้งานพลังงานสะอาดได้ถึงระดับประชาชนทั่วไปได้อย่างแน่นอน