ทั้งนี้ นอกจากข้อดีที่มีต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว กับ “มิติทางสังคม” รวมถึง “มิติอื่น ๆ” เทคโนโลยี AI นี้ก็ช่วยสร้าง “ข้อดี” ขึ้นได้เช่นกัน แต่…

“เทคโนโลยี AI” นั้นช่วยสร้างข้อดี

แต่ “มีผลเสียตามมาด้วยหรือไม่??”

ก็ลอง “มาดูมุมวิเคราะห์” กันต่ออีก…

เพิ่มเติมอีกตอนเกี่ยวกับการวิเคราะห์และสะท้อนมาโดย ดร.ภูษิต ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… การเข้ามาของ “เทคโนโลยี AI” นอกจากมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว เทคโนโลยีนี้ยัง “มีประโยชน์ต่อมิติทางสังคม” ด้วยเช่นกัน โดยมีผลดีต่าง ๆ ดังนี้…

ประการแรกคือ… “ประโยชน์จากความฉลาดรอบรู้” โดยจุดเด่นของ AI คือการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้ ทำให้มนุษย์สามารถนำจุดเด่นดังกล่าวมาใช้ อัปเกรดความรู้ ทั้งในเชิงกว้าง และความรู้ในเชิงลึก ได้สะดวกมากขึ้น ถัดมาก็คือ… ประโยชน์อย่างเรื่องของการ “ช่วยให้ผู้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น” จากการที่เทคโน โลยีนี้สามารถช่วยแปลภาษาต่าง ๆ ได้รวดเร็ว จึงช่วยให้ผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ทำความรู้จัก เข้าใจ และสนทนาระหว่างกันได้ง่ายขึ้น…

ช่วยให้ “ไม่มีกำแพงภาษา” มากั้น

ข้อดีของ AI ในมิติทางสังคมต่อมาคือ… เรื่องของการ “ช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้น” โดยปัจจุบันวงการแพทย์ หรือการดูแลสุขภาพ ก็นิยม นำระบบ AI มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคระยะเริ่มต้น จึงช่วยลดอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ได้อย่างมาก ซึ่งก็รวมถึง “ช่วยลดช่องว่างทางการแพทย์” ด้วยการนำระบบ Chatbot มาใช้งาน ทำให้คนไข้สามารถสื่อสารด้วยระบบการแพทย์ทางไกลสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา …นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่ง “ข้อดีข้อเด่นของระบบ AI”

ที่ช่วย “ลดเหลื่อมล้ำทางมิติสุขภาพ”

อย่างไรก็ตาม แม้ “เทคโนโลยี AI” จะมีข้อดี แต่ ดร.ภูษิต ก็ย้ำว่า… “ความก้าวล้ำ” ก็เป็น “ดาบ 2 คม” ได้เช่นกัน!! รวมถึงกับเทคโนโลยีอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” หากมีกรณี “ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด” ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาให้ “ใช้ง่ายขึ้น-ใช้สะดวกขึ้น” ก็ทำให้ “มิจฉาชีพ” มีการ “ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการหลอกลวงผู้คน” ให้หลงเชื่อ…เพื่อหวังผลประโยชน์” อย่างเช่น “ประดิษฐ์ภาพ-เสียง-เนื้อหาปลอม…เพื่อหลอกลวง” ซึ่งก็เป็น “ปัญหาใหญ่” ไม่แค่ในไทย

นี่กลายเป็น “ปัญหาสำคัญระดับโลก”

‘AI’ ไฮเทคล้ำน่าคิด(1) ‘ช่วยเศรษฐกิจ’ ดี..แต่ ‘ต้องกลัวมั้ย?’

ตัวอย่างหนึ่งคือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”

ส่วน “ผลกระทบ” อื่น ๆ “จาก AI” นั้น… ดร.ภูษิต ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า…ที่น่าติดตามใกล้ชิดด้วยคงหนีไม่พ้นเรื่องการที่ “AI เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์” ซึ่งนำสู่ “การเลิกจ้างงาน-ตำแหน่งงานลดหายไป” ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากได้ อีกทั้ง ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า…จากปัญหานี้จะทำให้เกิดปัญหาสืบเนื่องอื่น ๆ อะไรอีก??

Free photo 3d rendering of biorobots concept

และ อีกหนึ่งกรณีที่ก็ต้องจับตาคือ…ในอนาคต “การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว” จะเกิดปัญหามากขึ้นอีกหรือไม่?? เนื่องจากปัจจุบันแทบจะทุกองค์กรใหญ่ ๆ ได้มีการนำ AI มาใช้ในการประมวลผล กับใช้เพื่อยืนยันอัตลักษณ์บุคคล ซึ่งถ้าไม่มีระบบป้องกันที่ดี หรือ ถ้า “เกิดการรั่วไหลของระบบ” ก็ย่อม “เกิดความเสียหายต่อผู้คน” เป็นจำนวนมากได้

นอกจากนี้ จากการที่ผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่ม “เสพติดความสะดวกสบายจากการใช้งาน AI” เรื่องนี้ก็มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า…จะส่งผลทำให้บางคนอาจเจอกับ “ภาวะถดถอยด้านการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ” เพราะจะเชื่อทุก ๆ คำตอบที่เทคโนโลยี AI ระบุไว้ให้ ซึ่งนี่ก็ อีกเรื่องที่คนไทยจำเป็นจะต้องเฝ้าจับตาแบบใกล้ชิด เช่นเดียวกับทั่วโลก

นี่เป็น “มุมลบจาก AI” ที่ “ต้องจับตา”

แต่กระนั้น… ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผอ.หลักสูตร aMBA ม.หอการค้าไทย ก็สะท้อนมุมมองผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… “เทคโนโลยี AI” ไม่ได้น่ากลัวถึงขั้นที่เราไม่ควรใช้ ซึ่ง “ความน่ากลัวอยู่ที่การนำไปใช้ในทางผิด!!” หรือเปรียบได้กับอาวุธปืน คือถ้าหากนำไปใช้ในทางที่ดีก็เป็นเรื่องดี แต่หากใช้ในทางที่ผิดก็มีแต่จะทำให้เกิดแต่เรื่องที่ไม่ดี และกับ “คำแนะนำ” เพื่อให้ “เท่าทันเทคโนโลยี” และเพื่อ “ไม่ตกขบวนโลกยุคใหม่” นั้น ทางนักวิชาการท่านนี้ก็ได้ระบุมาว่า…

“ถ้าเรามัวกลัวเทคโนโลยี AI จะก่อปัญหา โดยไม่ปรับปรุงพัฒนาทักษะตัวเอง แบบนี้ก็คงจะช่วยอะไรตัวเองไม่ได้ เมื่อเทียบกับคนที่พยายามเรียนรู้เพื่อให้ใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้ หากไม่อยากตกขบวนโลกยุคใหม่ก็ต้องรีสกิล-อัปสกิลตัวเอง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง อีกทั้งจะช่วยลดความเสี่ยงให้ตัวเองได้ด้วย”…ดร.ภูษิต ทิ้งท้ายไว้

สรุปก็คือ…ก็ใช่ที่ “AI ก็เป็นดาบ 2 คม”

โดยที่ “มีหลายกรณีน่าจับตา-น่าห่วง”

แต่ “ต้องใช้คมดี ควบคู่ระวังคมร้าย”

ถ้า “ไม่ใช้ และไม่ระวัง…ก็แย่ได้!!”.

คลิกอ่านตอนที่ 1