นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ. ได้ศึกษาโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนเสนอขออนุมัติรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางด่วนศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ในแนวเส้นทางที่ต้องถูกซ้อนทับ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น BEM ยินดีเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการฯ แลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอ (พระราม 9-รัชดาภิเษก) ส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) ส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าระยะเวลาสัมปทานควรเป็นเท่าใด แนวโน้มอาจต้องเพิ่มมากกว่า 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เคยให้ศึกษาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 63 เนื่องจากปัจจุบันค่าก่อสร้างโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 หมื่นล้านบาท จากเดิม 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาสัมปทานที่ขยายเพิ่มนั้น คาดว่าคงไม่เกิน 30 ปี โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มั่นใจว่าจะสามารถตอบคำถามประชาชน และสังคมได้ว่า เหตุใดต้องขยายระยะเวลาสัมปทานให้เอกชน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าผลการศึกษาการสร้างทางด่วน Double Deck  ไม่คุ้มค่าการลงทุน มีการลงทุนสูง ไม่ได้ทำให้มีรายได้เพิ่ม เป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่มาใช้บริการ แต่ที่จำเป็นต้องทำ เพราะต้องการแก้ไขปัญหารถติด และได้สัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าจะให้บริการที่ดีที่สุด ทางด่วนต้องด่วนจริง ส่วนที่ต้องสร้างเป็นทางด่วน 2 ชั้น เพราะทางด่วนศรีรัชเดิมสร้างชิดติดเขตทางที่ กทพ. จัดกรรมสิทธิ์ไว้แต่เดิมแล้ว เมื่อปริมาณรถเต็มความจุของทางด่วน กทพ. จึงไม่สามารถขยายเพิ่มช่องจราจรด้านข้างได้อีก และหากจะขยายเพิ่มต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มความจุ โดยสร้างโครงสร้างซ้อนด้านบนทางด่วนเดิมแทน ซึ่งไม่ต้องเวนคืนที่ดินประชาชน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า คาดว่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาได้ภายในเดือน ก.พ. 67 หากเห็นชอบจะเสนอคณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จากนั้นจะเสนอร่างสัญญาสัมปทานให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถลงนามสัญญากับ BEM ได้ประมาณเดือน ก.ย. 67 เริ่มก่อสร้างปลายปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายปี 71   

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นทางด่วน 2 ชั้นสายแรกที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย โดยจะเป็นทางด่วนยกระดับ 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ซ้อนทับไปตามแนวทางด่วนศรีรัช มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน มุ่งไปทางทิศใต้ซ้อนทับอยู่บนทางด่วนศรีรัช โดยช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ถึงหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่น แนวสายทางจะอยู่คู่ขนานกับทางด่วนศรีรัชด้านขวามือ และบริเวณช่วงย่านพหลโยธิน ถึงทางแยกต่างระดับพญาไท (แนวคลองประปา) แนวสายทางจะอยู่ด้านซ้ายของทางด่วนศรีรัช และแนวสายทางจะมาทางทิศตะวันออก มีจุดสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลพระราม 9

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว จะก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้นเพิ่มอีก 1 จุด บริเวณหน้าคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา พระราม 9 เพื่อเชื่อมจากทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) เข้ามายังทางด่วนศรีรัช ซึ่งซ้อนอยู่บนแนวเส้นทางเดิม ระยะทางประมาณ 2 กม. ด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาวิกฤติการจราจรติดขัดบนทางด่วนในปัจจุบัน โดยสามารถแยกผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางระยะใกล้ ให้ใช้ทางด่วนศรีรัชเดิม ส่วนผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางระยะไกล สามารถใช้ทางด่วน Double Deck ได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องจุดตัดกระแสจราจร เพิ่มความจุบนทางด่วน และช่วยลดระยะเวลาเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า และเย็น ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้อย่างดี โดยปัจจุบันทางด่วนศรีรัช มีปริมาณจราจร 6.4 แสนคันต่อวัน ซึ่งเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 มีปริมาณจราจร 3.6 แสนคันต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอ (พระราม 9-รัชดาภิเษก) ส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) ส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) มี BEM เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งเมื่อปี 63 ครม. มีมติขยายสัมปทานให้กับ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน หรือหมดสัมปทานปี 2578 จากเดิมหมดอายุสัญญาในวันที่ 28 ก.พ. 63 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM