นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า กทพ. ได้ส่งหนังสือไปยังที่ปรึกษาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง ที่มีคุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญเข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษ (ด่วน) เชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด วงเงินประมาณ 72 ล้านบาท โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นใบเสนอราคา และเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดในขอบเขตงานในวันที่ 2 ก.พ. 67 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ณ แผนกวิเคราะห์วิศวกรรม กองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ ฝ่ายนโยบายและแผน ชั้น 14 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. หากพ้นวันเวลาดังกล่าว ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับข้อเสนอนั้นไว้พิจารณา
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า คาดว่า กทพ. จะคัดเลือกที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ และสามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ประมาณเดือน มี.ค. 67 จากนั้นจะเริ่มทำการศึกษาฯ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี เบื้องต้นโครงการดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นในพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทย สิ้นสุดโครงการที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด มีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เกาะช้าง ถือเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงของทะเลตะวันออก เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศทั่วโลก ปัจจุบันการเดินทางไปยังเกาะช้าง ใช้เรือในการนำคนและรถยนต์ไปยังตัวเกาะเพียงวิธีเดียว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของการเดินทางในขณะนี้คือ ความไม่สะดวกด้านการคมนาคมของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ต้องรอลงเรือเฟอร์รี่นานถึง 2-3 ชั่วโมง ทั้งขาไป-ขากลับ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญ อีกทั้งการอาศัยบริการเรือเฟอร์รี่เพียงวิธีเดียว ทำให้มีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะ อาทิ การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในเวลากลางคืน และความลำบากในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าพื้นที่อื่น ทั้งนี้มั่นใจว่าเมื่อเปิดใช้ทางด่วนเชื่อมเกาะช้างแล้ว จะเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ในการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และลดปัญหาการรอลงเรือด้วย
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษาฯ ครั้งนี้ นอกจากจะศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ต้องดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย โดยให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเสนอมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะเดียวกันต้องศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน ตลอดจนจัดทำกรอบสาระสำคัญเอกสารข้อเสนอชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการ และร่างสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ.