นี่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทาง ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เกริ่นนำไว้ในชุดข้อมูลผลการศึกษาวิจัยหัวข้อ “สาเหตุการมีภรรยาน้อยของชายไทย” ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษารวบรวมข้อมูลถึง 7 ปี…

ช่วง 7 ปีที่ว่านี้คือช่วงปี 2530-2537

แม้ชุดข้อมูลวิจัยนี้มีอายุเกือบ 30 ปี

แต่ถึงตอนนี้ก็ยังฉายภาพได้ร่วมสมัย

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรณี “ชายไทยมีเมียน้อย” ยังคงเป็นสิ่งที่พบได้ไม่ยากในไทย และที่เป็นกรณีเกี่ยวกับคนดัง หรือคนที่สังคมตามจับจ้อง ก็เป็นกระแสอื้ออึงอยู่เนือง ๆ ดังที่ทราบ ๆ กัน ซึ่งกับชุดข้อมูลศึกษาวิจัยโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…ก็ยังคงน่าพิจารณา แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีอายุผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว…หากแต่แง่มุมในชุดข้อมูลนี้ก็ยังร่วมสมัย ยังคงฉายภาพ “กรณีปัญหาจากการที่ชายไทยมีเมียน้อย” ได้น่าสนใจ

ในชุดข้อมูลงานวิจัยนี้ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้เอาไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้คำว่า “เมียน้อย” ไม่ได้ใช้คำว่า “ภรรยาน้อย” ด้วยเหตุผลที่ว่า… คำว่า “ภรรยาน้อย” ไม่มีในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉะนั้นเพื่อความถูกต้องด้านภาษา ผู้ศึกษาจึงขอใช้คำว่าเมียน้อย โดยไม่มีเจตนาจะดูแคลนเพศหญิงที่เป็นเมียน้อยแต่อย่างใด และ “คำจำกัดความ” คำว่า “เมียน้อย” ในการศึกษานี้คือ ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างสามีภรรยา หรือมีความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาต่อเนื่อง ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวแล้วเลิกกันไป กับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว …นี่เป็นเกริ่นนำของงานวิจัยนี้

ขณะที่ในรายงานวิจัยได้ฉายภาพ “ปัญหาสามีมีเมียน้อย” ไว้ว่า… ถือเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาครอบครัวที่พบได้บ่อยมากในคลินิกจิตเวช โดยผู้ที่มาปรึกษาจิตแพทย์มักเป็นภรรยา หรือ “เมียหลวง” ที่มีปัญหาสามีมีเมียน้อย หรือสามีมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น อย่างไรก็ตาม สำหรับสถิติที่แท้จริงว่ามีชายไทยจำนวนเท่าใดที่มีเมียน้อย…หาได้ยาก เพราะมักจะเป็นเรื่องที่ปิดบังกัน แต่ก็มีการศึกษาของ ผศ.พญ.ศรีประภา ชัยสินธพ ที่ได้เผยผลสำรวจไว้ในการประชุมประจำปี 2535 ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการศึกษานี้ได้สัมภาษณ์ประชากรกรุงเทพฯ จำนวน 160 คน พบว่าชายไทย…

23.75% ยอมรับว่าเคยมีเมียน้อย

55% ยอมรับว่าเคยคิดจะมีเมียน้อย

กล่าวสำหรับข้อมูลงานวิจัยโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้พบข้อมูล “ผู้ชายที่มีเมียน้อย” ในหัวข้อต่าง ๆได้แก่… “ด้านอาชีพ” พบว่า นักธุรกิจเป็นกลุ่มอาชีพที่มีเมียน้อยมากที่สุด รองลงมาคือ ตำรวจ วิศวกร ข้าราชการ และสำหรับ “ด้านรายได้”พบว่า คนที่มีรายได้ 10,000-50,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีเมียน้อยมากที่สุด รองลงมาคือผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ส่วน “ด้านบุคลิกภาพ” พบว่า คนที่มีบุคลิกภาพเจ้าระเบียบ เป็นกลุ่มที่มีเมียน้อยมากที่สุด รองลงมาคือบุคลิกภาพไม่ชอบตัดสินใจ ชอบแสดงออก และมีอารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย

ทั้งนี้ กับประเด็น “เหตุผลในการมีเมียน้อย” ของผู้ชายที่ตัดสินใจมีเมียน้อยนั้น จากการที่งานศึกษาวิจัยนี้ได้มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ก็พบ 8 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชายไทยตัดสินใจมีเมียน้อย ดังต่อไปนี้คือ…อันดับ 1 จากความใกล้ชิด-ความบังเอิญ, อันดับ 2 จากความรัก, อันดับ 3 จากการได้รับผลประโยชน์, อันดับ 4 จากการได้พบคนที่ถูกใจ, อันดับ 5 จากการไม่มีความสุขกับคู่ของตน, อันดับ 6 มองเป็นการหาความสุขอย่างหนึ่ง, อันดับ 7 มองเป็นความสามารถของผู้ชาย และอันดับ 8 เกิดจากความสงสาร …เหล่านี้คือ ’8 อันดับเหตุผล“ ที่ทางกลุ่มตัวอย่างได้มีการระบุไว้ เกี่ยวกับ…

“เหตุผล” ที่ทำให้เกิดการ “ตัดสินใจ”

“ให้เหตุผลตัวเอง” กรณี “มีเมียน้อย”

อย่างไรก็ตาม “ประเด็นสำคัญ” ที่ทาง ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ได้มีการระบุย้ำไว้ด้วย คือ… “ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีเมียน้อย” โดยได้ระบุถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ไว้ในชุดข้อมูลผลการศึกษาวิจัย ที่มีการเผยแพร่ไว้ใน วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2541 หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… การมีเมียน้อยของชายไทยเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยถ้าครอบครัวใดเกิดปัญหาเมียน้อยขึ้นแล้ว ปัญหานี้จะกระทบจิตใจของสมาชิกครอบครัวทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่ได้รับผลกระทบตรง ๆ คือ “ภรรยา” และ “ลูก” รวมถึงอาจ “โยงใยถึงปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น” ด้วย …ซึ่งการหาวิธี “ป้องกันเพื่อลดปัญหา” เรื่องนี้…

จะ “สกัดปัญหาสุขภาพจิตครอบครัว”

ไม่เพียง “สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง”

ยัง “ยึดโยงการลดคดีความรุนแรง”

ที่เกิดเพราะ “ผู้ชายมีเมียน้อย!!”.