สัปดาห์นี้ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ข้ามไปต้นเดือนหน้า คือวันที่ 7 .. 67 สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีประเด็นการหารือที่น่าติดตามมาก ระหว่างนายเศรษฐากับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต คือเรื่องการเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน 2 ประเทศ บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา ที่คาราคาซังมาเกือบ 20 ปี

ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ยังต้องพึ่ง “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า (สัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งประเทศ)

จากปัญหาคนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพง! เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง ที่มีราคาสูงและมีความผันผวน เข้ามาแทนกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดทางด้านพลังงานของรัฐบาลชุดที่แล้วใช่หรือไม่? …อันนี้ขอทิ้งเป็นคำถามไว้

ปัจจุบันการผลิตก๊าซธรรมชาติที่แหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่จะต้องผลิตได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และจะต้องทำให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 67 แต่จะทำได้หรือไม่? หลายฝ่ายยังลุ้น ๆ กันอยู่! เพราะมันไม่ง่าย!

ในพื้นที่อ่าวไทยมีเอกชนหลายรายได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดิบ โดยมีการพูดกันมากว่าช่วงปลาย ๆ ของอายุสัมปทาน เขาไม่ค่อย “เปลี่ยนมือ” ผู้ได้รับสัมปทานกัน เพราะถ้าเปลี่ยนมือแล้วจะยุ่ง-เสียเวลา และภาครัฐต้องตัดสินใจตั้งแต่
เนิ่น ๆ อย่างชัดเจนล่วงหน้ากับภาคเอกชน เพื่อให้เขามีเวลาตั้งหลัก เพราะธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยีสูง

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขุดกันมากว่า 30 ปี ปัจจุบันจึงเหลือน้อยเต็มทน! ประกอบกับสภาพทางธรณีวิทยาในอ่าวไทยมีก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นกระเปาะ ๆ ยิ่งเหลือก๊าซธรรมชาติในปริมาณน้อยลงทุกวัน การขุดเจาะยิ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูง และต้องใช้ความสามารถสูง เพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซธรรมชาติตามที่ต้องการ

บริษัทไหนมีเทคโนโลยีขั้นสูง มีขีดความสามารถสูง และมีการบริหารจัดการองค์กรชั้นยอด ในแวดวงการขุดเจาะเขาทราบกันดี!

วันนี้ผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะบ่อเล็ก บ่อน้อย ในช่วงโค้งสุดท้ายของอายุสัมปทาน กำลังรอท่าทีความชัดเจนจากผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ว่าจะเอาอย่างไรกับเขา? ต้องรีบตัดสินใจเสียที! เพราะธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยีสูง ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องวางแผนกันหลายปีว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม?

แต่ถ้าภาครัฐล่าช้า ผู้บริหารกระทรวงพลังงานมัวแต่รอฟังข้อมูลจากรอบทิศทาง ประเดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่ได้ตามเป้าหมาย และส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเหมือนช่วงที่ผ่านมาอีก ซึ่งมีบทเรียนให้เห็นกันแล้ว!

วกกลับมาที่แหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา มีก๊าซธรรมชาติมากมายขนาดไหน? คำตอบที่ “พยัคฆ์น้อย” ได้รับมาคือแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนฯ กับพื้นที่อ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี มีลักษณะเหมือน “ภาพสะท้อนกระจก” คือพื้นที่อ่าวไทยมีแค่ไหน ในพื้นที่ทับซ้อนฯ ก็มีเท่านั้น หรืออาจจะมากกว่ากันด้วยซ้ำไป

ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง เข้ามาป้อนโรงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในอ่าวไทยไม่เพียงพอกับการผลิตไฟฟ้า และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (ปิโตรเคมี)

ขณะเดียวกันต้องนำเข้าน้ำมันดิบวันละ 973,486 บาร์เรล (ประมาณ 90% ของการใช้ในประเทศ) คิดเป็นมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบ 91,579 ล้านบาท/เดือน (ข้อมูลปี 66)

ดังนั้นการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนฯ คือ “ลมหายใจ” ในอนาคตของคนไทยทุกคน ถ้าโครงการดังกล่าวเจรจากันไม่สำเร็จในรัฐบาลเศรษฐา ก็ไม่ต้อง “ฝันหวาน” ว่าจะเห็นราคาก๊าซฯ และราคาค่าไฟฟ้าจะถูกลงไปกว่านี้!!

—————-
พยัคฆ์น้อย