พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ได้มอบโจทย์ให้ ทอท. เร่งดำเนินการนำพื้นที่ว่างของ ทอท. ที่อยู่บริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ทั้งที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ และที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้จากธุรกิจนอกเหนือการบิน (Non-Aero) ที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนให้กับ ทอท. นอกเหนือจากรายได้ที่ได้รับจากธุรกิจการบิน (Aero) เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า หากมีปัจจัยแวดล้อมมากระทบ อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงชัดเจน จึงตั้งเป้าหมายว่า ทอท. ต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก Non-Aero ให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ให้ได้ จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 40%

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นต้องการให้ ทอท. นำที่ดินแปลงที่อยู่ใกล้ ทสภ. มากที่สุด มาพัฒนาเป็นศูนย์การค้า Outlet  หรือห้างสรรพสินค้า ในลักษณะเดียวกับสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่ใช้พื้นที่ในสนามบินพัฒนาเป็นศูนย์การค้า Jewel Changi Airport ที่มีทั้งแหล่งชอปปิง ร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงศูนย์การค้า Outlet ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินนาริตะ เพื่อรองรับผู้โดยสารให้มีพื้นที่พักคอย และทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างรอเช็กอินขึ้นเครื่องบินที่ ทสภ. เพราะปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ ทสภ. มีความหนาแน่น เนื่องจากผู้โดยสารไม่รู้จะไปที่ไหน จึงมานั่งรอเช็กอินที่ ทสภ. ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกหลายชั่วโมงจึงจะเปิดให้เช็กอิน

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า ศูนย์การค้าที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่รอบ ทสภ. นั้น นอกจากจะเป็นแหล่งชอปปิงแล้ว ต้องมีจุดที่รับฝากกระเป๋า เคาน์เตอร์เช็กอินล่วงหน้า รวมถึงบริการต่างๆ อาทิ ทานอาหาร, นวดเท้า และที่นั่งพักผ่อน เพื่อให้ผู้โดยสามารถใช้เวลาอยู่ที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ได้ 6-7 ชั่วโมง เพราะบางคนเช็กเอาต์ออกจากโรงแรมตั้งแต่เวลา 12.00 น. จะได้ไม่ต้องมานั่งรอในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มองว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จึงมีเป้าหมายจะให้เห็นโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใน 1-2 ปี หลังจากนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ทอท. มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบ ทสภ. อยู่แล้ว โดยได้นำที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ด้วยการเสนอโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งมีเอกชนมาเสนอพัฒนาโครงการแล้วราว 40-50 โครงการ แต่ ทอท. ยังไม่ได้สรุปผลการคัดเลือก ส่วนที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ ปัจจุบัน ทอท. นำพื้นที่บางส่วนมาพัฒนาเลนจักรยานแล้ว เหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ โดย ทอท. จะพิจารณาธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เช่นเดียวกับที่ดินแปลง 723 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้พื้นที่ด้านการบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องไม่กระทบด้านการบิน และเป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจการบิน.